ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผย ผลดำเนินงาน “กองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ 2566” ครอบคลุมดูแลประชากรผู้มีสิทธิ ร้อยละ 99.40 มีผู้ป่วยนอกรับบริการ 164.98 ล้านครั้ง ผู้ป่วยในรับบริการ 6.265 ล้านครั้ง ขณะที่หลายสิทธิประโยชน์ช่วยดูแลผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเกินเป้าหมาย อาทิ บริการเอชไอวี/เอดส์ บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง บริการจิตเวชเรื้อรังในชุมชน บริการผู้ป่วยติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิง และบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ เป็นต้น สะท้อนประสิทธิภาพ สปสช. บริหารจัดการและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบบัตรทอง
   
วันที่ 19 พ.ย. 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ปีงบประมาณ 2566 สปสช. ได้ดำเนินการเพื่อดูแลคนไทยผู้มีสิทธิบัตรทองฯ จำนวน 47.73 ล้านคน ให้เข้าถึงสิทธิและบริการต่างๆ ตามสิทธิประโยชน์ ภายใต้งบประมาณที่รับการจัดสรรจำนวน 142,297,936,700 บาท (ไม่รวมเงินเดือนหน่วยบริการภาครัฐ จำนวน 61,842,091,100 บาท) เป็นงบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 3,901.21 บาทต่อผู้มีสิทธิ โดยเป็นจำนวนที่รวมงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 506.07 บาทต่อผู้มีสิทธิ และงบบริการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับ- ผู้ให้บริการ 9.16 บาทต่อผู้มีสิทธิ ซึ่งในประกาศปี 2566 จะอยู่นอกงบเหมาจ่ายรายหัว โดยมีหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศร่วมให้บริการจำนวน 17,247 แห่ง

 

ผลงานภาพรวมปีงบประมาณ 2566 สปสช.ได้ดำเนินการตามเป้าหมายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ ครอบคลุมประชากรผู้มีสิทธิบัตรทอง ร้อยละ 99.40 โดยมีผลการรับบริการผู้ป่วยนอกจำนวน 164.98 ล้านครั้ง จากเป้าหมายจำนวน 166.86 ล้านครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 98.87 ขณะที่ผลการรับบริการผู้ป่วยในอยู่ที่จำนวน 6.265 ล้านครั้ง จากเป้าหมายจำนวน 6.494 ล้านครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 96.48

นพ.จเด็จ กล่าวว่า นอกจากนี้ในส่วนการดูแลผู้ป่วยที่บริหารจัดการนอกงบเหมาจ่ายรายหัว ภาพรวมได้ให้การดูแลประชาชนเข้าถึงบริการตามเป้าหมายด้วยเช่นกัน อาทิ บริการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ โดยปี 2566 มีผู้ติดเชื้อฯ และผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องจำนวน 305,527 คน จากเป้าหมายจำนวน 299,420 หรือคิดเป็นร้อยละ 102.04 และดูแลกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับบริการส่งเสริมและป้องกันการติดเชื้อฯ จำนวน 3,372,839 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3,135,165 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 107.58

 

บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยการบำบัดทดแทนไต

 

บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยการบำบัดทดแทนไต ปี 2566 มีจำนวนรับบริการสะสมรวม 92,666 คน (นับซ้ำในรายผู้ป่วยที่ได้รับบริการมากกว่า 1 วิธี ในรอบปี) ของเป้าหมายจำนวน 67,786 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 136.70 แยกเป็นบริการล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (CAPD) สะสมรวมจำนวน 23,445 คน บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) สะสมรวมจำนวน 62,197 คน บริการผ่าตัดปลูกถ่ายไตรายใหม่จำนวน 284 คน และบริการรับยากดภูมิคุ้มกันหลังปลูกถ่ายไต ทั้งรายเก่าและรายใหม่จำนวน 2,852 คน นอกจากนี้ยังมีบริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) สะสมรวมจำนวน 3,888 คน 

บริการควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อนสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในปีงบประมาณ 2566 มีผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงรับบริการจำนวน 4,269,315 คน ของเป้าหมาย 4,370,013 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 97.70 

บริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน มีผู้ป่วยลงทะเบียนรับบริการจำนวน 13,107 คน จากเป้าหมายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ 12,271 คน โดยคิดเป็นร้อยละ 106.81 และในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนฯ ที่ได้รับการติดตามเยี่ยมจำนวน 11,983 คน 


    
การบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) ปี 2566 ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ทุกสิทธิ ทุกกลุ่มอายุที่ได้รับบริการสาธารณสุข หรือได้รับบริการตามแผนการดูแลรายบุคคลจำนวน 334,823 คน จากเป้าหมายจำนวน 210,941 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 158.73 โดยมีกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เข้าร่วมโครงการ LTC จำนวน 7,179 แห่ง จากกองทุนฯ จำนวน 7,741 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 92.74
    
การเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายหน่วยบริการในพื้นที่กันดารพื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่ สปสช. ได้รับจัดสรรงบเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้หน่วยบริการสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข 186 แห่ง จำนวน 1,490.288 ล้านบาท โดยจ่ายตามเกณฑ์พื้นที่กันดาร/พื้นที่เสี่ยงภัย 168 แห่ง จ่ายตามเกณฑ์พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 57 แห่ง และจ่ายตามเกณฑ์ทั้ง 2 เกณฑ์ 39 แห่ง    

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ขณะที่บริการสาธารณสุขปฐมภูมิ สปสช. สนับสนุนการจัดบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว และเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการสุขภาพวิถีใหม่ ได้แก่ บริการร้านยาคุณภาพ บริการส่งยา/เวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์ บริการสาธารณสุขระบบทางไกล  บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกหน่วยบริการ บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ บริการดูแลแบบผู้ป่วยในที่บ้าน (Home ward) บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และบริการการแพทย์ทางไกลในลักษณะผู้ป่วยนอกทั่วไป 42 กลุ่มโรค รวมถึงบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ผลดำเนินงานโดยรวมมีผู้ป่วยเข้าถึงทั้งสิ้นจำนวน 2,827,756 ครั้ง หรือร้อยละ 99.93 จากเป้าหมายจำนวน 2,829,846 ครั้ง 
    
ส่วนบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีประชากรในพื้นที่ได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับพื้นที่ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด เด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน เด็กวัยเรียนและเยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คนพิการและทุพลภาพ และประชาชนทั่วไปที่มีภาวะเสี่ยง ภาพรวมบริการนี้มีประชาชนรับบริการจำนวน 43,310,514 คน คิดเป็นร้อยละ 163.35 จากเป้าหมายจำนวน 26,514,000 คน 
    
นอกจากนี้ยังมีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยปีงบประมาณ 2566 สปสช. สามารถสร้างความคลุมสิทธิภายใต้ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือประชาชนไทยทุกคนได้จำนวน 66,602,086 คน คิดเป็นร้อยละ 100.48 จากเป้าหมายจำนวน 66,286,000 คน  

    
    
“จากรายงานการดำเนินงานกองทุนบัตรทองฯ นี้ ผลดำเนินงานไม่เพียงเป็นไปตามเป้าหมายเท่านั้น แต่หลายผลงานยังเกินจากเป้าหมายที่วางไว้ สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนฯ ของ สปสช. ที่ดูแลให้เกิดการเข้าถึงสิทธิประโยชน์บริการให้กับประชาชน รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิตามสิทธิประโยชน์ต่างๆ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว