ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค พัฒนาเครือข่ายงานกำจัดและกวาดล้าง “โปลิโอ-หัดและหัดเยอรมัน” ตามพันธสัญญานานาชาติ  ชี้ไทยต้องระวังโปลิโอสายพันธุ์ธรรมชาติและกลายพันธุ์จากวัคซีนที่ให้ไม่ครอบคลุม ล่าสุดประชุมประเทศสมาชิกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยยังไม่อยู่ในสถานะกำจัดโรคหัดได้ เร่งดำเนินการให้อยู่ในเกณฑ์อีก 3 ปีข้างหน้า

 

ไทยเดินหน้ากวาดล้างโปลิโอ ให้หมดไปต่อจากไข้ทรพิษ

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่โรงแรมไมด้า ดอนเมือง นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.)  กล่าวเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมพัฒนาภาคีเครือข่ายงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อขับเคลื่อนการกำจัดกวาดล้างโรคตามพันธสัญญานานาชาติ ว่า กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายมีความมุ่งมั่นในการเร่งรัดกำจัดและกวาดล้างโรคตามพันธสัญญานานาชาติ เช่น โปลิโอ มีเป้าหมายกวาดล้างเป็นโรคที่ 2 ต่อจากไข้ทรพิษ รวมทั้งการกำจัดโรคหัดและหัดเยอรมัน และโรคอื่นๆที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน   การให้วัคซีนเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุดในการป้องกันโรค โดยประชาชนจะได้รับวัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค  เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องจึงร่วมกันดำเนินการให้บริการวัคซีนพื้นฐานตามเกณฑ์อย่างน้อยร้อยละ 95 ในวัคซีนโรคหัดและหัดเยอรมัน รวมทั้งคางทูม และร้อยละ 90 เป็นอย่างน้อยสำหรับวัคซีนอื่นๆ

ข้อแตกต่างระหว่าง ‘กวาดล้างและกำจัดโรค’

ภายในงาน นพ.ศุภชัย ฤกษ์งาม ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวตอนหนึ่งในการอภิปรายเรื่องความก้าวหน้าในการดำเนินงานกวาดล้างโรคโปลิโอ การกำจัดโรคหัดและหัดเยอรมัน  ว่า 30 กว่าปีที่ผ่านมา สมัชชาอนามัยโลก โดยประเทศสมาชิกรวมทั้งไทย ประกาศเจตนารมณ์ในการทำพันธสัญญาร่วมกันในการกำจัดและกวาดล้างโปลิโอ ซึ่งกำจัดจะเป็นพื้นที่เดียว แต่กวาดล้างคือทุกพื้นที่ทั่วโลก ดังนั้น เป้าหมายของโปลิโอต้องไม่พบเชื้ออีกเลย ทั้ง 3 สายพันธุ์ 1, 2 และ 3 ต้องกวาดล้างไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่ต้องใช้วัคซีน ขณะนี้โปลิโอทั่วไป อย่างทัยป์  2 สามารถกำจัดได้ในบางจุด โดยใช้คำว่าโปลิโอฟรี คือ ไม่พบผู้ป่วย แต่เชื้อยังไม่หมด เรียกว่าขณะนี้เราอยู่ช่วงท้ายแล้ว เราจึงต้องรักษาสภาพให้อยู่เพื่อให้เชื้อหมดไปให้ได้

นพ.ศุภชัย ยังกล่าวถึงสถานการณ์ระดับโลกในปีที่ผ่านมา ว่า พบผู้ป่วยโปลิโอจากการติดเชื้อสายพันธุ์ธรรมชาติ(wild polio) ที่ประเทศปากีสถานและอัฟกานิสถาน ซึ่งลดจำนวนลงมากแล้ว โดยปี 2566 ถึงปัจจุบันพบเพียง 7 รายและ 6 รายตามลำดับ ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของวัคซีนก็ทำให้เกิดโรคได้ เนื่องจากระดับความครอบคลุมของวัคซีนในเด็กกลุ่มเป้าหมายลดต่ำลงกว่ามาตรฐาน   ส่วนสถานการณ์ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างปีที่ผ่านมาในอินโดนีเซีย เกิดการระบาดของโปลิโอสายพันธุ์จากวัคซีนกลายพันธุ์ ทั้งๆที่ได้ประกาศรับรองการไม่พบผู้ป่วยโปลิโอมาหลายปีแล้ว จากกรณีที่เกิดขึ้น ทำให้ไทยมีโอกาสเกิดการระบาดของโปลิโอได้เช่นกัน จึงต้องเฝ้าระวังและเข้มมาตรการอย่างมาก

นพ.ศุภชัย กล่าวอีกว่า ส่วนโรคหัดและหัดเยอรมัน โดยธรรมชาติอาจกวาดล้างไม่ได้ง่ายๆ แต่ก็จะกำจัดได้ เพราะวัคซีนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก แต่กระบวนการแพร่เชื้อยังต้องอาศัยความร่วมมือประชาชน จึงจะควบคุมได้ ทำให้ตั้งเป้าในการกำจัด ซึ่งจะแตกต่างจากกวาดล้าง ที่ต้องให้หมดสิ้นจากโรค โดยกำจัด เชื้อยังอยู่แต่โรคไม่เป็นปัญหาแต่ละพื้นที่ ซึ่งตั้งเป้าว่า หากเมื่อไหร่มีผู้ป่วยน้อยกว่าหรือไม่เกิน 1 ต่อล้านประชากร ถึงเรียกว่าเข้าข่ายการกำจัดโรค

ไทยไม่อยู่ในสถานะกำจัดโรคหัด เร่งขับเคลื่อนภายใน 3 ปี

“ข้อมูลจากการประชุมเมื่อต้นปีที่ผ่านมาพบว่า ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านมาการตรวจสอบผลการดำเนินการอยู่ในสถานะกำจัดโรคหัดได้แล้ว 5 ประเทศ คือ ภูฎาน มัลดีฟ ศรีลังกา ติมอร์เลสเต และสาธารณรัฐประชาชนเกาหลี ที่เหลืออีก 6 ประเทศรวมประเทศไทย ยังมีโรคหัดเป็นโรคประจำถิ่น ส่วนโรคหัดเยอรมัน ผ่านการตรวจสอบว่ากำจัดได้แล้วเพียง 4 ประเทศ คือ ภูฎาน มัลดีฟ ศรีลังกา และติมอร์เลสเต อีก 6 ประเทศรวมประเทศไทย ยังมีหัดเยอรมันเป็นโรคประจำถิ่นเช่นกัน ไทยจึงยังต้องขับเคลื่อนเพื่อลดปัญหาตรงนี้ให้ได้ อย่างการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อให้ไทยหลุดพ้นและได้เกณฑ์จนผ่านการรับรองว่ากำจัดหัดและหัดเยอรมันได้สำเร็จในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือ ปี 2569 ” นพ.ศุภชัย กล่าว

เดินหน้าให้วัคซีนครอบคลุมระดับพื้นที่

นพ.ศุภชัย กล่าวอีกว่า  คณะกรรมการรับรองผลการกวาดล้างโปลิโอและการกำจัดโรคหัดแห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับประเทศ ที่ตนเป็นประธาน ได้มีการพิจารณาทบทวนการดำเนินการเรื่องนี้ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีข้อเสนอแนะประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น การเร่งรัดอัตราการครอบคลุมของประชากรในเรื่องการรับวัคซีนทั้งหัดและหัดเยอรมัน คือ จำนวนของคนได้รับวัคซีนในพื้นที่จุดใดจุดหนึ่งหารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมดที่ควรได้รับวัคซีนตามเกณฑ์กำหนด จึงจะออกมาเป็นความครอบคลุม  ซึ่งแตกต่างจากการให้บริการเฉพาะบุคคล แต่หากจะหวังผลต้องดูที่อัตราการครอบคลุมทั้งหมด

ดังนั้น หัดและหัดเยอรมันต้องครอบคลุม 95% ในระดับพื้นที่ โดยระดับเขตให้พิจารณารายจังหวัด ส่วนจังหวัดพิจารณาระดับอำเภอ ส่วนอำเภอพิจารณารายตำบล และระดับตำบลพิจารณารายหมู่บ้าน เพราะเมื่อระบาดไม่ได้ระบาดทั้งประเทศ ทั้งจังหวัด แต่ระดับเป็นหมู่บ้านๆ และค่อยๆเพิ่มเป็นตำบล ดังนั้น ต้องสร้างความเข้าใจพอสมควร รวมไปถึงการเฝ้าระวังจะช่วยเตือนภัยได้ดี หากเริ่มพบเชื้อจากแลปก็เป็นสัญญาณว่ามาแล้ว ซึ่งหยุดได้หากเราควบคุมดี โดยเป้าหมายของหัดคือ กำจัด ไม่ได้หมายถึงว่าไม่พบผู้ป่วย พบได้แต่ต้องควบคุมให้ได้ตามเกณฑ์

สร้างความร่วมมือเครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ

ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า  จริงๆเรามีแลปในการตรวจสอบเชื้อว่า มีลักษณะอย่างไร บอกได้ด้วยว่ามาจากไหน แต่เรายังไม่ค่อยมีผลเรื่องนี้มากนัก เพราะหากเราทราบว่าเชื้อที่พบมาจากที่อื่นหรือไม่ การจะบอกตรงนี้ต้องใช้แลปช่วย จึงต้องประสานข้อมูลกับภาคีเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการเช่นกัน ข้อมูลเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการป้องกันควบคุมโรค นอกจากนี้ ต้องมีการจัดสรรทรัพยากรบุคคลด้านงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และงบประมาณอย่างเพียงพอ ที่สำคัญไทยยังต้องปรับปรุงระบบเฝ้าระวังโรคในประชากรเสี่ยงสูง เข้าถึงได้ยากและผู้อพยพ  และต้องบริหารจัดการระดับชาติอย่างมีคุณภาพสูงในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มเติมโดยไม่แยกเฉพาะกลุ่ม ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเพิ่มความเข้มแข็งในการพยายามปิดช่องว่างภูมิคุ้มกันโรคอย่างสม่ำเสมอ ในเมืองที่มีกลุ่มอพยพขนาดใหญ่หรือผู้พลัดถิ่น เช่นกรุงเทพมหานคร