ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. สานพลังภาคี เร่งแก้ปัญหาPM 2.5 หลังพบปี 66 ค่าฝุ่นสูง จากอุตสาหกรรม-ภาคเกษตร-ไฟป่า กระทบต่อสุขภาวะทุกมิติ เสนอแนวทางปรับการรับมือใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง –ปรับแก้กฎหมายควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม

ในเวทีนโยบาย และวิชาการ “ประชาชนสู้โลกเดือด” หรือ COP ภาคประชาชน เพื่อนำเสนอเสียงของประชาชนด้านต่าง ๆ ในการเผชิญภาวะโลกเดือด จัดโดยภาคประชาสังคม การขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากฐานชุมชน และคนชายขอบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย มีการสรุปบทเรียนการแก้ปัญหา PM 2.5  ยกร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย และเปิดเวทีเสวนาการแก้ปัญหา

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5  พบว่าปี 2566 ค่าฝุ่น PM 2.5 สูง 15 จังหวัดของไทยที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกิน 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)ต่อเนื่องนานเกิน 3 วัน ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคเหนือ รวมทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานครด้วย ส่งผลให้ในต้นปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศ 1.52 ล้านคน จึงต้องเฝ้าระวังในประชากรกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคทางปอด และหัวใจ รวมทั้งเด็กเล็ก 

 

รับมือฝุ่นพิษ PM 2.5  
 

“สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคมขับเคลื่อน จัดทำแผนแก้ปัญหา ข้อเสนอเชิงนโยบาย รับฟังข้อเสนอแนะ หาแนวทางสำคัญรับมือฝุ่นพิษ PM 2.5  รอบใหม่ โดยมี 1. เสนอต่อภาครัฐ ให้เป็นวาระแห่งชาติ พัฒนากฎหมาย นโยบายพลังงานสะอาด ขนส่งสาธารณะ โรงงานปลอดมลพิษ ป้องกัน เยียวยาสุขภาพประชาชน และนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว 2. ภาคธุรกิจ ต้องมีส่วนรับผิดชอบ ส่งเสริมอากาศสะอาด กำหนดเงื่อนไขป้องกัน ในระดับอันตราย ในสัญญาสินเชื่อแหล่งเงินทุนสำหรับภาคธุรกิจ 3. ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำแผนบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงร่วมกับประชาชนกลุ่มต่างๆ 4. นักวิชาการ ศึกษาข้อมูล ทำความเข้าใจแหล่งกำเนิดมลพิษ เผยแพร่ข้อมูล ความรู้ที่ถูกต้อง รอบด้านสู่ประชาชน 5. องค์การสหประชาชาติ United Nations : UN สนับสนุนกฎหมายการบริหารอากาศสะอาด และ แผนนโยบายจัดการฝุ่น PM2.5  ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน” นายอนรรฆ กล่าว

นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ในต่างประเทศระบุว่าสัดส่วนของการปล่อย PM2.5 สู่สิ่งแวดล้อมจากภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 10 % ส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับ 30-50 %  บางพื้นที่ 60 %  ในไทยเมื่อคำนวณรวมทั้งหมดปรากฎว่าPM 2.5 จากภาคอุตสาหกรรมสูงถึงประมาณ 40,000 ตันต่อปี ขณะที่ PM 10 สูงถึง 70,000 ตันต่อปี ส่วนภาคเกษตรมีการปล่อยประมาณ 190 ตันต่อปี ภาคขนส่ง รถยนต์ต่าง ๆ อยู่ที่ระหว่าง  200-400 ตันต่อปี ผลจากการศึกษาสมุทรสาครสีเขียวเรื่องของการปล่อย PM2.5 จากทุกภาคส่วนที่มีการปล่อยทั้งจากรถยนต์ การเผาขยะ การเผาภาคเกษตร โรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ประมาณ 6,000 กว่าแห่ง ใน จ.สมุทรสาคร 

“การเผาภาคเกษตร หรือไฟป่าเป็นไปตามฤดูกาล ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยอากาศเสีย 24 ชั่วโมงใน 365 วัน ไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 120,000-140,000 กว่าแห่ง จะมีโรงงานที่ปล่อยอากาศออกสู่สิ่งแวดล้อมประมาณ 70,000 กว่าแห่ง กระจายทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเรื่องใหญ่ ไม่เพียงปริมาณที่ปล่อยออกมา แต่พบสารที่ปนอยู่ในPM 2.5 เป็นโลหะหนักบางตัวด้วย จึงต้องนำเรื่องนี้มาร่วมในการแก้ปัญหาที่สำคัญด้วย เพราะเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่า PM2.5 จากการเผาภาคเกษตรและไฟป่า” นางเพ็ญโฉม กล่าว

นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ101 PUB - 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า การแก้ปัญหาPM 2.5 เป็นไปได้ยาก เนื่องจาก 1. เกณฑ์PM 2.5 ไม่เข้มงวดเมื่อเทียบกับสากล เช่น กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อเกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. ส่วนสากลอยู่ที่ไม่เกิน 12 มคก./ลบ.ม. มีผลกระทบสุขภาพเมื่อเกิน  35.4 มคก./ลบ.ม. 2.แหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นมีหลายปัจจัย 3.นโยบายแก้ฝุ่น ดังนั้น ควรปรับแก้กระบวนการควบคุม จัดการให้เป็นสากล เปลี่ยนการแก้ปัญหาจากบนลงล่างเป็นการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ปรับแก้ เพิ่มกฎหมายที่สามารถควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมได้ เช่น ปรับแก้พ.ร.บ.โรงงานให้มีมาตรการกำกับที่ทัดเทียมสากล  เพิ่มกฎหมายบังคับให้โรงงานต้องแจ้งปริมาณมลพิษที่ปล่อยแก่ผู้กำกับดูแล เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ