ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่ม Nurses Connect ร่วมสหภาพแพทย์ฯ และสายวิชาชีพอื่นๆ เตรียมพบ “ชลน่าน” ม.ค.67 หารือทางออกกำหนดชั่วโมงการทำงาน ชี้ทุกวันนี้ยังภาระงานหนักเท่าเดิม ล่าสุดมีข้อร้องเรียน รพ.ชุมชนภาคอีสาน ปิดแผนกทำคลอด คาดปัญหาการเงิน หวั่นไม่จ่ายโอที หนำซ้ำกระทบคนไข้ต้องไปคลอดรพ.ใกล้เคียง วอนผู้บริหารลงไปตรวจสอบ

 

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม น.ส.สุวิมล นัมคณิสรณ์ ตัวแทนสหภาพพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล และตัวแทนกลุ่ม Nurses Connect ให้ข้อมูลกับทาง Hfocus ถึงการเตรียมข้อเสนอปัญหาภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ขณะนี้ทาง กลุ่ม Nurses Connect และสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งสายงานอื่นๆ ทั้งสหภาพเภสัชฯ และเทคนิคการแพทย์ ฯลฯ โดยจะขอเข้าพบนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงเรื่องที่ทางกลุ่มได้เสนอทางกระทรวงสาธารณสุขไปก่อนหน้านี้ ทั้งชั่วโมงการทำงาน ค่าตอบแทนที่จะเพิ่มขึ้น เบื้องต้นคาดว่าจะได้เข้าพบหลังปีใหม่ หรือประมาณเดือนมกราคม 2567

น.ส.สุวิมล กล่าวว่า ปัญหาที่ทางกลุ่มและเครือข่ายได้เรียกร้องไปนั้น เข้าใจว่าทางกระทรวงสาธารณสุขมีการปรับค่าตอบแทนให้มาก่อนหน้านี้ เพียงแต่ว่า ค่าตอบแทนยังไม่สอดคล้องกับภาระงานจริง ทั้งแพทย์ พยาบาล สายวิชาชีพ สายงานอื่นๆก็ยังคงทำงานหนักเช่นเดิม  แม้จะมีแนวโน้ม มีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาไปในทางที่ดี แต่ก็ยังไม่ได้แก้ปัญหาบุคลากรได้ตรงจุดทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องภาระงาน ขณะที่ค่าตอบแทนที่บอกว่าปรับขึ้นนั้น ไม่ใช่ว่าปรับขึ้นเท่ากันทุกที่ แม้ปรับขึ้นก็ไม่เพียงพอ ไม่สอดคล้องกับภาระงานอยู่ดี

 

ร้องตรวจสอบรพ.ชุมชน โซนอีสานปิดแผนกคลอด คาดปัญหาการเงิน

“ทุกวันนี้เราก็ยังทำงานหนักมากกว่า 80-100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และช่วงหลังๆ ยังพบว่าโรงพยาบาลบางแห่งในกระทรวงสาธารณสุข มีความพยายามลดแผนกของบุคลากรลงด้วย เนื่องจากการบริหารเงิน พวกเราก็กลัวว่า จะมีปัญหาเรื่องการไม่จ่ายเงินเดือน ไม่จ่ายค่าโอทีด้วยหรือไม่ ซึ่งตอนนี้มีร้องเรียนเข้ามาเหมือนกันอยู่บริเวณโซน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปิดวอร์ด และย้ายพยาบาลไปอยู่แผนกอื่น ส่วนเหตุผลก็น่าจะประมาณการบริหารเงิน ตรงนี้ไม่ใช่กระทบต่อบุคลากร แต่กระทบประชาชนด้วย ซึ่งเราจะนำเสนอปัญหาทั้งหมดต่อรัฐนตรีฯ ด้วยเช่นกัน” น.ส.สุวิมล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการปิดแผนก อาจเพราะต้องการเซฟคอร์สและลดภาระงานบุคลากรหรือไม่ น.ส.สุวิมล กล่าวว่า พยาบาลก็ยังต้องทำงานหนักเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนวอร์ด ปัญหาคือกระทบคนไข้ ยกตัวอย่าง มีการปิดห้องคลอดของรพ.ชุมชน 1 แห่ง  และให้คนไข้ไปคลอดรพ.อื่น แบบนี้ก็คล้ายๆ ผลักภาระให้รพ.ข้างเคียงหรือไม่ ผู้ป่วยก็ลำบากมากขึ้น ตรงนี้ผู้บริหารสธ.ควรลงไปดูว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

(ข่าว : “ชลน่าน” โต้กลับหลังกระแส รพ.โซนอีสานติดหนี้ จนปิดวอร์ดคลอด ชี้ข้อมูลคลาดเคลื่อน!)

หากไม่แก้ภาระงาน พยาบาลลาออกอีกเพียบ ตกปีละ 7 พันคน

เมื่อถามว่า ค่าตอบแทน ค่าเวรควรขึ้นเป็นเท่าไหร่ถึงเพียงพอ ตัวแทนกลุ่ม Nurses Connect กล่าวว่า อยากให้มีนโยบายลดภาระงานที่ชัดเจนกว่านี้ ไม่เช่นนั้นบุคลากรก็ลาออกเรื่อยๆ อย่างพยาบาลก็ยังลาออกอยู่ปีละ 7,000 คนรวมเกษียณ เสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่จากกระทรวงสาธารณสุข ลาออกเยอะสุดแล้ว

ถามต่อว่ากระทรวงฯมีแผนแยกตัวออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มองว่าดีหรือไม่ น.ส.สุวิมล กล่าวว่า ดีมาก ควรทำนานแล้ว เพราะบุคลากรเป็นทักษะพิเศษ ควรบริหารกันเอง เพียงแต่แผนนี้ค่อนข้างใช้เวลา ควรมีแผนระยะสั้น หรือให้เห็นผล หรือแก้ปัญหาที่แก้ได้ก่อน เช่น ปรับขึ้นค่าโอที หรืออาจต้องสรรหาการจ้างเพิ่ม เพื่อลดภาระงานที่อยู่ตอนนี้ อย่างค่าโอทีควรเพิ่มให้เท่ากับ รพ.สังกัดกทม.ก็ได้ คือประมาณ 1,200 บาทต่อเวร ส่วนค่าเวรบ่ายดึกปัจจุบันปรับขึ้นกว่า 300 บาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จริงๆ รัฐบาลควรมีทีมวิเคราะห์ทำแผนเพื่อปรับตามอัตราเงินเฟ้อ แต่ที่ผ่านมาการปรับกลับเป็นความสามารถของรพ. กลายเป็นว่าไม่เท่ากันหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเพจสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานได้โพสต์สอบถามว่า มีรพ.ไหนถูกปิดวอร์ดบ้าง โดยมีบางแห่งได้มาตอบว่า มีการปิดแผนกผ่าคลอด คาดว่า จะลดจำนวนการจ้างลูกจ้างด้วยเช่นกัน 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เสียงสะท้อน “พยาบาล” ลาออกเพียบ! เฉลี่ยปีละ 7,000 คน เหตุภาระงานล้น ค่าตอบแทนน้อย)