ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รายงานล่าสุด WHO ชี้คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 18,218 ราย อัตราสวมหมวกกันน็อคไม่เพิ่ม - คาดเข็มขัดนิรภัยลดลง ห่วงปิดผับตี 4 เจ็บ-ตายพุ่ง ขอตำรวจเข้ม “เมาไม่ขับ”

WHO เปิดรายงาน Global Status Reports on Road Safety 2023 พบ “อุบัติเหตุทางถนน” คร่าชีวิตคนทั่วโลก 1.19 ล้านราย สูญเสีย 63 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ขณะที่ประเทศไทยแม้แนวโน้มดีขึ้น แต่ยังห่างเป้าลดตายลง 50% คาดปีนี้ดับ 17,000 ราย เชื่อนโยบายปิดผับตี 4 ทำบาดเจ็บเสียชีวิตพุ่ง เรียกร้องตำรวจเข้ม “เมาไม่ขับ”

พบ “อุบัติเหตุทางถนน” คร่าชีวิตคนทั่วโลก 1.19 ล้านราย

วันที่ 19 ธ.ค. 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) มูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนโลกและประเทศไทย และ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย

นพ.จอส ฟอนเดลาร์ (Dr.Jos Vandelaer) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า WHO ได้เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ ทุกปีทั่วโลกมีคนตายจากอุบัติเหตุทางถนน 1.2 ล้านราย นับเป็นปัญหาสาธารณสุข มีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม องค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ UN ทำหน้าที่ในการประเมินและวางแผนกิจกรรมความปลอดภัยทางถนน ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิก เพื่อทำข้อมูลและถอดบทเรียนนำไปสู่การปฏิบัติ 

“องค์กรอนามัยโลก มีความยินดีอย่างยิ่งในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย เพราะอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญของไทย ซึ่งตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 ตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนให้ได้ 50% คาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จ” นพ.จอส กล่าว

สำหรับรายงาน Global Status Reports on Road Safety ปี 2023 โดย องค์การอนามัยโลก ระบุว่าที่ผ่านมาในทศวรรษความปลอดภัยที่ 1 ได้มีการออกรายงานมาแล้ว 4 ฉบับ มีการตั้งเป้าหมายกำหนดให้ระหว่างปี 2564 - 2573 ลดลงอย่างน้อย 50%

จากข้อมูลรายงานฉบับล่าสุด พบว่าสถานการณ์ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1.19 ล้านราย คิดเป็น 15 ต่อแสนประชาการ 92% เกิดในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ที่น่าสนใจพบว่าสัดส่วนมากที่สุด (28%) เกิดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก 5-29 ปี คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียสูงถึง 63 ล้านล้านบาท 

5 ประเด็นหลักที่ให้ความสำคัญ ได้แก่

  1. อัตราการใช้ความเร็ว
  2. ดื่มไม่ขับ
  3. พฤติกรรมการสวมหมวกกันน็อค
  4. พฤติกรรมการเข็มขัดนิรภัย
  5. การใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก

โดยต้นแบบที่มีครบทุกมาตรการคือ ประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ขณะที่ประเทศไทยมีเพียง 3 เกณฑ์ข้างต้น 

ทั้งนี้ สรุปภาพรวมทั่วโลกลดลง 16% เกินกว่าครึ่งของประเทศต่างๆ คนตายลดลง นับเป็นทิศทางที่ดีท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจ และจำนวนยานพาหนะที่เพิ่มขึ้น สำหรับประเทศไทยสถานการณ์ดีขึ้นเช่นกัน แต่ยังคงต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นในการบรรลุเป้าหมาย ลดการตายจากอุบัติเหตุบนถนนลง 50% ในปี 2570

อัตราสวมหมวกกันน็อคไม่เพิ่ม - คาดเข็มขัดนิรภัยลดลง

พญ.ศิริรัตน์ สุวรรณฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2566 ปัจจุบันภาพรวมประชากรไทย 70 ล้านคน ยานพาหานะจดะเบียนมากขึ้นจาก 20 ล้านคัน เป็น 45 ล้านคัน แนวโน้มการบาดเจ็บทางถนนดีขึ้น โดยเริ่มลดลงตั้งแต่ 2558 ซึ่งจากตัวเลขรายงานองค์การอนามัยโลกฉบับล่าสุด 2023 (ใช้ข้อมูล 2021) พบว่า คนไทยเสียชีวิต 18,218 ราย หรือคิดเป็น 25 ต่อแสนประชากร ลดลงจากปี 2561 ที่มีอัตราเสียชีวิต 24,728 ราย หรือคิดเป็น 35 ต่อแสนประชากร อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเสียชีวิตที่ลดน้อยลง ยังคงป็นโจทย์ท้าทายที่ทุกภาคีเครือข่ายทำงานอย่างเข้มข้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดครึ่งหนึ่งในปี 2570

สำหรับข้อมูลการปฏิบัติตามกฎหมาย ใน 2 ด้านสำคัญ ได้แก่

  • การสวมหมวกกันน็อค พบว่า ค่าเฉลี่ยในประเทศไทย คนขับ 52% คนซ้อน 21% ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ 80% และ 70% ตามลำดับ
  • การคาดเข็มขัด ค่าเฉลี่ยในประเทศไทย ทั้งคนขับและโดยสาร อยู่ที่ 35.7% ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ คนขับ 80% ผู้โดยสารข้างหน้า 70% และผู้โดยสารนั่งหลัง 50% 

“ตัวเลขสะท้อนว่าอัตราสวมหมวกกันน็อคของคนไทย ยังไม่ปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราคาดเข็มขัดนิรภัยของไทยลดลงอย่างชัดเจน จากค่าเฉลี่ยปี 2561 ที่คนขับ 58% คนโดยสาร 40% เหลือเพียง 35.7% เท่านั้น” พญ.ศิริรัตน์ กล่าว

ด้าน นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ กล่าวว่า สำหรับรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุของประเทศไทย เก็บสถิติจะใช้ข้อมูล 3 ฐาน มาจากความร่วมมือของเครือข่าย ทำให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดได้ใช้ข้อมูลจากรายงาน นำไปแก้ไขปรับปรุงจุดเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ นำมาสู่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ในปี 2566 ตามเป้าหมายแผนแม่บท ต้องลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุให้ได้ประมาณ 3,000 คน แต่จนถึงขณะนี้เหลืออีกสองสัปดาห์จะหมดปี 2566 ตัวเลขการเสียชีวิตรวมอาจมากถึง 17,000 คน ซึ่งไม่ต่างจากปี 2565 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายของแผนแม่บทที่ตั้งเป้าว่าอีก 4 ปี จะลดการเสียชีวิตให้เหลือ 8,000 คน 

นพ.วิทยา กล่าวว่า ขณะนี้เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ การทำงานร่วมกันยังมีสูญญากาศ ซึ่งนโยบายหลายเรื่องสวนทางกับการป้องกันอุบัติเหตุ เช่น เส้นทางพิเศษให้รถยนต์ใช้ความเร็ววิ่งได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำหนดโซนนิ่งเปิดสถานบันเทิงถึงเวลา 04.00 น. การชะลอติดตั้งเบรกเอบีเอสในรถจักรยานยนต์ รวมถึงโทษจากการทำผิดกฎหมายจราจร ที่มีแค่ปรับเป็นพินัยแต่ไม่มีโทษจำคุก จึงอยากฝากฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่อยากให้มีเกียร์ว่างสำหรับผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย 

เร็ว ๆ นี้ จะมีการยื่นข้อเสนอกับนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้มีความเข้าใจในการลดการเกิดอุบัติเหตุ โดยจะมีข้อเสนอ อาทิ การผลักดันให้ติดกล้องซีซีทีวี เพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ ใช้อุปกรณ์ทางด้านไอทีเข้ามามีส่วนช่วย เช่น การออกใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ 

ห่วง! ปิดผับบาร์ตี 4 เจ็บ-ตายพุ่ง พร้อมผลักดัน 4 มาตรการลดอุบัติเหตุทางถนน

สำหรับนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวปิดผับบาร์ตี 4 นพ.วิทยา กล่าวว่า โดยตรรกะคนกินเหล้าตีสี่ขับรถกลับบ้านในสภาพเมาและมีความง่วง จึงมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น เนื่องจากเวลาหลังจากตีสี่คนเริ่มไปทำมาหากิน ไปตลาดจับจ่ายใช้สอย หลายคนกำลังออกจากบ้านมาออกกำลังกาย นักเรียนกำลังเตรียมตัวเดินทางไปโรงเรียน จึงต้องการรณรงค์และสื่อสารว่าต้องไม่ปล่อยให้คนเมาขับขี่ พร้อมกันนี้ขอฝากความหวังไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีการตั้งด่านที่เข้มข้นมากขึ้น จะช่วยชะลอการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนได้

นพ.วิทยา กล่าวว่า ในส่วนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ขอให้พัฒนากลไกการกำกับติดตามการดำเนินงานของหน่วยงาน โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการให้เป็น single command การแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย และพิจารณาอย่างรอบคอบด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม รวมทั้งผลักดัน 4 มาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่ 

  1. ติดตั้งกล้อง CCTV ตรวจจับพฤติกรรมการขับขี่
  2. เพิ่มเครื่องออกใบสั่งอิเลคทรอนิคส์
  3. ปรับปรุงพัฒนาถนน 3 ดาวทั่วประเทศ
  4. บังคับให้จักรยานยต์ทุกคันติดตั้งเบรก ABS

ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี โดยที่ผ่านมา สสส. มีบทบาทในการส่งเสริมและรณรงค์ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่มาจากอุบัติเหตุ เช่น เมาไม่ขับ ส่วนนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยกำหนดโซนนิ่งขยายเวลาเปิดสถานบริการ ถึง 04.00 น. ยอมรับว่ามีความกังวล และจะเป็นเรื่องที่ภาคีเครือข่ายต้องทำงานมากขึ้น ซึ่งในปีหน้า สสส.จะเข้มข้นเรื่องเมาแล้วขับมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายลดตายจากอุบัติเหตุลงครึ่งหนึ่ง ให้เหลือ 12 คนต่อแสนประชากร 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

อดีตที่ปรึกษาWHO เผยผู้ใช้ จยย.เจ็บรุนแรง-เสียชีวิตเฉลี่ย1คน ทุก34นาที

"เชียงใหม่" ปิดผับบาร์ตี4 อุบัติเหตุพุ่ง สสส.-สคอ.เร่งรณรงค์ดื่มไม่ขับ

“อนุทิน” ลั่นพอใจปิดผับบาร์ตี4 เศรษฐกิจหมุนเวียน  พร้อมเสวนาร่วม “บิ๊กโจ๊ก” ลดอุบัติเหตุ

เริ่มแล้ว! ขยายปิดผับตี 4 สธ.ในพื้นที่ร่วมบูรณาการมาตรการรองรับหากมีเหตุฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุเมาแล้วขับ