ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นักเทคนิคการแพทย์ เป็นอีกวิชาชีพที่ทำงานในกระทรวงสาธารณสุข แต่หลายคนอาจไม่รับรู้ถึงบทบาทของเรา และไม่รู้ถึงภาระงาน ค่าตอบแทน ความก้าวหน้าที่เหลื่อมล้ำมานาน..”  หนึ่งในถ้อยคำจากการบอกเล่าของหนึ่งในนักเทคนิคการแพทย์ที่ทางสำนักข่าวออนไลน์ Hfocus ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ เกี่ยวกับภาระงานที่ผ่านมา

ภาระงาน  ‘นักเทคนิคการแพทย์’

ทนพญ.อริสา พรหมณาเวช  สหภาพเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย เริ่มเล่าถึงบทบาทหน้าที่ของนักเทคนิคการแพทย์ที่หลายคนอาจไม่ทราบ ว่า  จริงๆแล้วภาระงานของนักเทคนิคการแพทย์มาจากหลายส่วน อย่างการตรวจวิเคราะห์สิ่งส่งตรวจ ไม่ว่าจะเป็นเลือด ปัสสาวะ สารคัดหลั่งต่างๆของผู้ป่วย  ส่วนชั่วโมงการทำงานนั้น อย่างในรพ.รัฐกำหนดการทำงาน คือ เวลา 08.30 น. ถึงเวลา 16.30 น.  แต่จริงๆอาจต้องมาเช้าตั้งแต่ 06.30 น.เพื่อมาเจาะเลือดผู้ป่วย และตรวจวิเคราะห์ให้ทันแพทย์ออกตรวจผู้ป่วย 09.00 น.

“หากทำก่อนเวลาราชการ 1-2 ชม. จะได้โอที 50-60 บาทต่อชั่วโมง ซึ่งน้อยมาก  นอกจากนี้ เรายังต้องขึ้นเวรบ่ายดึก คิดเป็นกะละ 8 ชั่วโมง รวมๆ เป็น 24 ชั่วโมง จากนั้นก็จะวนมาในเวลาราชการอีกครั้ง ส่วนเวลาพักก็จะไม่มาก คือ ไม่ได้กำหนดตายตัว ลักษณะจะคล้ายๆแพทย์ สรุป คือ เราต้องทำงาน 32 ชั่วโมงทำต่อเนื่อง แต่ค่าตอบแทนของเราจะน้อยกว่าแพทย์ พยาบาล ทั้งที่เราจบป.ตรี 4 ปี และต้องสอบเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพ”

ตัวแทนสหภาพเทคนิคการแพทย์ฯ ยังเผยถึงผลสำรวจชั่วโมงการทำงานของนักเทคนิคการแพทย์ไม่ต่ำกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สูงสุดถึง 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เราทำงานควงเวรไม่แตกต่างจากแพทย์ ยิ่งรพ.ชุมชน จะกำหนดนักเทคนิคการแพทย์โดยใช้กรอบการนอนเตียง เช่น มีเตียง 30 เตียงก็จะกำหนดนักเทคนิคการแพทย์ 3 คนเป็นขั้นต่ำ ซึ่งจริงๆ ตรงนี้ไม่ควรคิดโควต้าบุคลากรแบบนี้ เพราะความเป็นจริงคนไข้มาเรื่อยๆ แทบไม่ได้พัก เช่น รพ.ชุมชน เวลาตรวจรพ.ทั่วไป พอหลังเวลาราชการก็จะมีกลุ่มคนไข้มารับการรักษาต่อ เพราะกลางวันเขาไม่ว่าง ซึ่งภาระงานก็จะไปอยู่ที่แผนกฉุกเฉิน 

ขออัตรากำลังคิดตามจริง ปรับค่า FTE ใหม่

“ดังนั้น อยากให้คำนวณอัตราบุคลากรตามค่างาน ไม่ควรคิดตามจำนวนเตียงของรพ.นั้นๆ เพราะเราต้องยอมรับ คนไข้เยอะมาก บางคนไม่มีเตียงนอน ต้องไปนอนระเบียงก็มี สิ่งสำคัญขอให้มีการปรับค่าคำนวณภาระงานหรือ FTE  ใหม่อีกครั้ง และขอให้สอดคล้องกับความเป็นจริง  อย่าง รพ.ชุมชน   หรือรพ.ทั่วไป  บุคลากรน้อย อย่างนักเทคนิคการแพทย์ 1 คนทำทุกอย่าง ตั้งแต่รับแลป ให้คำแนะนำคนไข้  เจาะเลือด เอาเลือดส่งต่อนำไปปั่น เข้าเครื่องตรวจวิเคราะห์ จากนั้นมาเจาะเลือดต่อ” ทนพญ.อริสา กล่าว

สหภาพฯ ยังมองว่าค่าตอบแทนทุกวันนี้ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ อย่างค่าตอบแทนล่วงเวลา  ล่าสุดแม้กระทรวงสาธารณสุขจะมีการปรับขึ้นจาก 600 บาท เพิ่มเป็น 650 บาท ซึ่งขึ้นมาเพียง 50 บาท ตัวเลขนี้ไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่สำคัญบางแห่งจ่ายเกินไปแล้ว 60-70% หรือประมาณ 700-800 บาท ซึ่งตัวเลขนี้ ณ ปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และยังมีบางหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขที่ยังจ่ายค่าเวรนักเทคนิคการแพทย์เพียง 420 บาท ดังนั้น การที่กระทรวงฯ ปรับค่าตอบแทนค่าโอทีดังกล่าวก็ไม่ได้ตอบโจทย์มากนัก เพราะไม่ได้เพิ่มอะไรเลย แต่บางพื้นที่ก็ยังไม่ถึง 700 บาท ตรงนี้ก็ถือเป็นเรื่องดี เพียงแต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะขึ้นมาเพียง 50 บาทเท่านั้น 

จ่ายค่าตอบแทนบุคลากรด้วยเงินบำรุงไม่ใช่ทางออก

“ปัญหาของการจ่ายค่าตอบแทนด้วยเงินบำรุง คือ รพ.ที่มีสภาพคล่องดีก็จ่ายได้ แต่บางแห่งไม่มีเงินพอก็จ่ายไม่ได้ ดังนั้น หากเราอยู่ในรพ.ที่ขาดสภาพคล่องก็ต้องรับสภาพหรืออย่างไร ยกตัวอย่าง นักเทคนิคการแพทย์ขึ้นเวรได้ 10 เวรต่อเดือน แต่รายได้ไม่เหมือนกันเพราะอยู่ที่เงินบำรุง เช่น รพ.แห่งหนึ่งจ่ายได้ 9,000-10,000 บาท แต่บางแห่งได้เพียง 6,500 บาท ห่างกันเยอะมาก  ดังนั้น ทางออกเรื่องค่าตอบแทน ทั้งค่าโอที ค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานหรือพีฟอร์พี  (Pay for performance หรือ P4P) ควรเป็นภาระของเงินงบประมาณ ไม่ใช่เงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาล” ตัวแทนสหภาพฯ กล่าว 

ขอปรับเงิน พ.ต.ส.ให้สอดคล้องกับระดับความเชี่ยวชาญ

ทนพญ.อริสา ยังบอกถึงค่าตอบแทนอื่นๆที่นักเทคนิคการแพทย์ ได้รับ คือ ค่าตอบแทนเงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า เงินพ.ต.ส. สำหรับวิชาชีพขาดแคลน เนื่องจากเทคนิคการแพทย์ ไม่ได้ค่าใบประกอบวิชาชีพ  แต่ยังมีค่า พ.ต.ส. ซึ่งก็ไม่ได้มากมาย และไม่มีการปรับเพิ่มมานานแล้ว แตกต่างจากวิชาชีพอื่นๆ  อย่างเทคนิคการแพทย์จะมีความเชี่ยวชาญมากแค่ไหน ต้องทำงานที่มีความเสี่ยงต่อเชื้อโรคอันตราย หรือมีองค์ความรู้จากการเรียนเพิ่มเติมมาอย่างไร ก็ยังคงได้เพียง 1,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น

ปัญหานักเทคนิคการแพทย์มีมากไม่แตกต่างวิชาชีพอื่นๆ อย่างการจ้างงาน ก็ถูกจ้างงานหลายประเภท แต่ละประเภทมีความเหลื่อมล้ำ แม้แต่จ้างเหมาบริการ ซึ่งไม่ได้สิทธิสวัสดิการอะไรเลย  ซึ่งอาจเป็นเพราะปัจจุบันมีนักเทคนิคการแพทย์จบใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 1,200 คนต่อปี ลาออกไม่เกิน 15%  ส่วนใหญ่ลาออกไปทำอาชีพอื่น เนื่องจากไปอยู่เอกชน เงินก็ไม่ได้เพิ่มมากเหมือนวิชาชีพอื่นๆ หลายคนก็ไปเรียนต่อเป็นพยาบาล ทันตแพทย์ แพทย์ เป็นวิชาชีพอื่นแทน

วอน ‘รมว.ชลน่าน’ ช่วยเหลือวิชาชีพเทคนิคการแพทย์

 “เมื่อเรายังอยู่ในระบบ เราเพียงอยากขอ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ช่วยเหลือวิชาชีพเทคนิคการแพทย์  เร่งบรรจุเจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ยังตกค้างไม่ได้รับการบรรจุกว่าร้อยราย รวมทั้งเรื่องภาระงาน ค่าตอบแทน ความก้าวหน้าในวิชาชีพ อย่างเรื่องความก้าวหน้า ขอความเป็นธรรมให้สามารถเลื่อนไหลตำแหน่งจากซี 7 ไปซี 8 ได้ เพราะที่ผ่านมานักเทคนิคการแพทย์ ใน 1 จังหวัดมีชำนาญการพิเศษหรือซี 8 น้อยมาก 2-3 คน บางจังหวัดไม่มีเลย พูดได้ว่า 80-90% ที่อยู่ในตำแหน่งข้าราชการตันอยู่ที่ซี 7 จึงขอให้ท่านรมว.สาธารณสุขรับเรื่องพิจารณาหาทางออกให้พวกเราด้วย” ทนพญ.อริสากล่าว

โดยขณะนี้สหภาพเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย   ร่วมกับสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน สหภาพพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล และตัวแทนกลุ่ม Nurses Connect และสหภาพเภสัชกรผู้ปฏิบัติงาน อยู่ระหว่างประสานงานเพื่อขอเข้าพบ รมว.สาธารณสุข ในการหาแนวทางช่วยเหลือวิชาชีพต่างๆ ที่ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าน่าจะเข้าพบได้หลังปีใหม่ 2567 นี้