ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ. เผย คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เดือน ม.ค. 67 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงเขตสุขภาพที่ 1, 2, 3, 8, กทม. และปริมณฑล ให้เตรียมพร้อมหน้ากากอนามัย เร่งจัดทำห้องปลอดฝุ่นทุกโรงพยาบาล รายงานผู้ป่วยที่มีอาการเกิดจากการสัมผัสฝุ่น เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ เมื่อสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรง พร้อมทั้งสนับสนุน อปท. ร่วมดูแลประชาชน 

วันนี้ 22 ธันวาคม 2566 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์และการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปี 2567 โดยมี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ และเปิดเผยว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ช่วงวันที่ 21-29 ธันวาคม 2566 จะสะสมเพิ่มขึ้นในระดับเกินมาตรฐานในบางพื้นที่ ส่วนในเดือนมกราคม 2567 มีแนวโน้มสะสมเพิ่มขึ้นจนเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพเกือบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และช่วงปลายเดือนมกราคม ภาคเหนือจะเริ่มมีแนวโน้มเกินมาตรฐานเพิ่มขึ้น จากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตลอดทั้งเดือน ทำให้อุณหภูมิลดลงต่ำสุด  

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ได้มีข้อสั่งการเพื่อดูแลและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ได้แก่ 1. เฝ้าระวัง คาดการณ์ และแจ้งเตือนสถานการณ์ พร้อมสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลป้องกันสุขภาพอย่างต่อเนื่อง 2. เตรียมความพร้อมระบบบริการสาธารณสุข/ระบบส่งต่อ โดยใช้กลไก 3 หมอ และระบบเทเลเมดิซีน ดูแลกลุ่มเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเยื่อบุตาอักเสบ 
โรคผิวหนัง และคนทำงานในสถานที่เสี่ยง เช่น คนตัดอ้อย เผาอ้อย เป็นต้น 3. เตรียมความพร้อมทางการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ หน้ากากอนามัย ห้องปลอดฝุ่น โดยเฉพาะโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงสูงของเขตสุขภาพที่ 1, 2, 3 และ 8 รวมถึง กทม. และปริมณฑล ให้เร่งจัดทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2567 

4.ให้สถานพยาบาลแจ้งและรายงานผู้ป่วยหรือผู้สงสัยว่าเป็นโรคหรือมีอาการเกิดจากการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 5. เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ในทุกระดับ และยกระดับการปฏิบัติการเมื่อสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งล่าสุดได้เปิด PHEOC แล้ว 4 จังหวัด คือ พิษณุโลก นนทบุรี สิงห์บุรี และสมุทรสาคร 5.ให้ PHEOC รายงานสถานการณ์ทุกวัน และ 6. สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมดูแลประชาชนจากปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่