ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ชลน่าน" เผยบำบัดผู้ติดยาเสพติดใช้ชุมชนช่วย คัดเลือก 200 อำเภอนำร่อง ก่อนขยายครอบคลุมทั้งประเทศ 

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 ที่โรงพยาบาลชะอำ จังหวัดเพชรบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการทำงานของโรงพยาบาลชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พร้อมกล่าวตอนหนึ่งถึง แนวทางการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ว่า  ในการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดเพิ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ 1. การบำบัดรักษาฟื้นฟูทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป มินิธัญญารักษ์ โรงพยาบาลชุมชน

2. การบำบัดฟื้นฟูทางสังคม ซึ่งตรงนี้จะเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่เราต้องการแก้ไขปัญหา ผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาทางการแพทย์แล้วจะไม่กลับไปใช้สารเสพติดซ้ำอีก และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข  มีสุขภาพดี มีสติปัญญาดี และมีอาชีพดี ได้รับการยอมรับจากสังคมโดยรวม ซึ่งวิธีการนี้กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับ 5 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และใช้กลไกพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอในการทำงาน เบื้องต้นได้คัดเลือกอำเภอที่มีความเข้มแข็ง 200 แห่ง มาเป็นอำเภอนำร่องก่อนจะขยายออกไปทั่วประเทศ ความสำเร็จจะอยู่ที่ชุมชน ปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง เรียกว่า ชุมชนล้อมรัก อาจจะมีผสมผสานกับกิจกรรมค่ายต่างๆ 

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างประกาศกำหนดปริมาณครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดถือเป็นผู้เสพ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว และครม.เห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งขั้นตอนนี้ไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาเอาไว้ แต่ทางเราจะเร่งรัด ให้สามารถประกาศใช้ได้เร็วที่สุดเนื่องจากถือเป็นเรื่องเร่งด่วน

การบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

ด้าน นางริณรี หวนนิช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้างานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลชะอำ เพชรบุรี กล่าวว่า  สำหรับข้อมูล กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดโรงพยาบาลชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูง ต่อการก่อความรุนแรง (Serious Mental Illness with High Risk to Violence: SMI-V) 5 อาการ คือ นอนไม่หลับ เอะอะโวยวาย หงุดหงิดฉุนเฉียว พูดจาคนเดียว เที่ยวหวาดระแวง จำนวน 55 ราย มีผู้เข้ารับบริการ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566-31 ธ.ค 2566 โดยเข้าแอดมิท 10 ราย ส่งต่อ ผู้ที่มีอาการดีขึ้นเพื่อเข้ารับการดูแลต่อที่ รพ.หนองหญ้าปล้อง 12 ราย ส่งต่อมินิธัญญารักษ์ รพ.แก่งกระจาน 2 ราย โดยผู้ป่วยสารเสพติดที่เข้ารับการรักษามากที่สุดคือ ผู้ป่วยยาเสพติดยาบ้า รองลงมาคือผู้ติดยาบ้าร่วมกับกัญชา และผู้ใช้ยาบ้าร่วมกับกระท่อม ตามลำดับ 

สำหรับการบำบัดรักษานั้น จะนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนดานถอนยา 7 วัน เมื่ออาการดีขึ้น เข้าสู่การดูแลหลังพ้นระยะวิกฤติ 28 วัน ต่อเนื่อง จากนั้นจะส่งเข้ารับการบำบัดที่มินิธัญญารักษ์ รพ.แก่งกระจาน เพื่อดูแลต่อเนื่อง 4 เดือน แต่หากผู้ป่วยไม่ยินยอมเข้าดูแลต่อเนื่องที่มินิธัญญารักษ์ ก็ส่งเข้าสู่การบำบัดโดยชุมชน ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลจะติดตามต่อเนื่อง 1 ปี ซึ่งที่ผ่านมา ในจำนวนผู้ป่วยที่เราดูแล  55 ราย พบว่ามีการกลับมาใช้สารเสพติดซ้ำ 2 ราย อย่างไรก็ตาม เรามีภาคีเครือข่ายให้ความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง ทั้ง ตำรวจ ผู้นำชุมชน เข้ามาร่วมดูแล หากมีเคสฉุกเฉินเขาก็จะมาแจ้ง เพื่อส่งตัวเข้ารักษาที่ห้องฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง