ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"รีลีฟ คลินิกกายภาพบำบัด" ร่วมดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 4 กลุ่มโรคที่ต้องได้รับการฟื้นฟูใน จ.สกลนคร ได้รับบริการกายภาพบำบัดต่อเนื่อง ด้วยบัตรปชช.ใบเดียว เพิ่มความสะดวก ประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทาง ด้าน สปสช.ระบุ ทั่วปท.มีคลินิกกายภาพบำบัดร่วมในระบบบริการแล้ว 1,151 แห่ง ผู้ป่วยได้รับบริการแล้ว 6.7 หมื่นคน

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 ที่ผ่าานมา ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผอ.สปสช เขต 8 อุดรธานี ลงพื้นที่เยี่ยมชมหน่วยนวัตกรรมคลินิกกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วยบัตรทอง "รีลีฟ คลินิกกายภาพบำบัด" อ.เมืองสกลนคร โดยมี ภก.กุลทิพย์ ศิริวรรณ  รีลีฟคลินิกกายภาพบำบัดและทีม ให้การต้อนรับและสรุปภาพรวมการดำเนินงานให้บริการผู้ป่วยบัตรทอง

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า กายภาพบำบัดเป็นบริการทางการแพทย์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ป่วย เพื่อให้ลดอาการปวด ฟื้นฟูร่างกายและป้องกันความพิการ โดยเฉพาะผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคที่ต้องได้รับการฟื้นสมรรถภาพผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate care : IMC) ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury) ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บที่ได้รับการรักษาจนเข้าสู่ภาวะคงที่ ผู้ป่วยภาวะกระดูกสะโพกหักจากภยันตรายชนิดไม่รุนแรง (Fragility fracture hip )

ทั้งนี้ด้วยมีผู้ป่วยรอรับบริการมีจำนวนมากและความไม่สะดวกในการเดินทางรับบริการ สปสช. จึงได้เพิ่มทางเลือกและอำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ให้กับผู้ป่วยบัตรทอง 30 บาทใน 4 กลุ่มโรคนี้ในคลินิกกายภาพบำบัดที่มีมาตรฐานการบริการ โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบให้ “คลินิกกายภาพบำบัด” ร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564

“เริ่มต้นมีคลินิกกายภาพบำบัดร่วมนำร่องให้บริการเพียงจำนวน 24 แห่ง ปัจจุบันมีคลินิกการยภาพบำบัดเข้าร่วมเป็นจำนวน 1,151 แห่ง ภาพรวมข้อมูลในช่วง 3 ปี มีผู้ป่วยเข้ารับบริการเป็นจำนวนทั้งสิ้น 67,402 คน หรือเป็นจำนวนรับบริการ 366,184 ครั้ง ทั้งนี้แยกเป็นบริการผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง 56,874 คน /274,733 ครั้ง ผู้ป่วยสมองบาดเจ็บ 3,586 คน/ 15,336 ครั้ง ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ไขสันหลัง 2,115 คน /12,723 ครั้ง และผู้ป่วยกระดูกข้อสะโพกหัก 3,640 คน/ 10,488 ครั้ง จะได้เห็นได้ว่าด้วยบริการที่คลินิกกายภาพบำบัดนี้ ได้ช่วยให้ผู้ป่วยบัตรทองทั้ง 4 กลุ่มโรค ได้รับบริการฟื้นฟูเพิ่มขึ้น” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ด้าน ภก.กุลทิพย์ กล่าวว่า จากการทำงานที่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มาเป็นเวลา 6 ปี ทำให้ได้เห็นถึงความยากลำบากของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ อุปสรรคการเดินทาง และด้วยสภาพร่างกายที่ไม่พร้อม ในการเคลื่อนไหว ทำให้ผู้ป่วยหลายๆ คน ขาดโอกาสที่จะรับบริการกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จึงเห็นว่า หากในจังหวัดสกลนครมีคลินิกกายภาพชุมชนอบอุ่นที่ให้บริการได้ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล จะทำให้ได้รับการบำบัดฟื้นฟูได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีความสะดวกสบายและรวดเร็ว ขณะเดียวกันยังลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้

ดังนั้นจึงสมัครเข้าร่วมและขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา โดยมีโรงพยาบาลศูนย์สกลนครเป็นหน่วยบริการแม่ข่าย เชื่อมโยงบริการด้วยโปรแกรม Smart IMC ในการจัดเก็บและส่งข้อมูลของผู้ป่วย พร้อมมีการสื่อสารผ่านกรุ๊ป LINE CUP IMC สกลนคร เพื่อติดตามผู้ป่วยที่มารับบริการ การใช้บัตรประชาชนใบเดียวถือว่าช่วยให้การบริการรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น

ภายหลังจากที่ รีลีฟ คลินิกายภาพบำบัด ได้ให้บริการผู้ป่วยบัตรทองแล้ว ผู้ป่วยและญาติให้การตอบรับเป็นอย่างดี เพราะมีความสะดวก รวดเร็ว ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง ไม่ต้องรอนาน ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง รองลงมา คือผู้ป่วยบาดเจ็บที่สมอง ผู้ป่วยบาดเจ็บที่ไขสันหลัง และผู้ป่วยกระดูกข้อสะโพกหัก นอกจากนี้ รีลีฟ คลินิกกายภาพบำบัด ยังให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ผู้ป่วยที่บ้าน เฉลี่ย 5-10 รายต่อวัน ซึ่งจากบริการที่ผ่านมาได้ช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลายคนสามารถช่วยเหลือตนเองได้และดำเนินชีวิตประจำวันได้ และอีกหลายคนหายจากอาการเจ็บป่วยและสามารถกลับไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวได้

ส่วนปัญหาการเบิกจ่ายตอนนี้เป็นไปได้ด้วยดียังไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาคือการเข้าถึงผู้ป่วยเพราะผู้ป่วยบางรายยังไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิไหน นั่นจะทำให้ผู้ป่วยสียโอกาสในการรักษาซึ่งมีจำนวนเยอะพอสมควรที่ยังไม่ได้รับการรักษา รวมถึงมีปัญหาการเดินทางมาที่คลินิกด้วย แต่อย่างไรก็ตามทางคลินิกเรามีบริการดูแลรักษาผู้ป่วยที่บ้านด้วยเช่นกัน