ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุขตอบปมโซเชียลฯล้อยาบ้า 5 เม็ดทำซื้อขายคึกคัก คนเสพครึกครื้น สวนกลับข้อเท็จจริงติดคุกหัวโต แค่ 1 เม็ดก็ไม่รอด ขอให้ดูที่เจตนารมณ์กฎหมาย ส่วนเรื่องบำบัดผู้เสพกี่ครั้งนั้น ไม่ได้กำหนด อยู่ที่ดุลยพินิจ หากสมัครใจรักษาครั้งเดียวสำเร็จ

 

 

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการล่ารายชื่อเพื่อให้มีการยกเลิกประกาศครอบครองปริมาณยาเสพติด ให้สันนิษฐานเป็นผู้เสพ เนื่องจากมีการกำหนดปริมาณครอบครองยาบ้า 5 เม็ด สันนิษฐานเป็นผู้เสพ เป็นเรื่องไม่เหมาะสม ว่า เราต้องไปดูว่า เหตุผลที่เขาให้มาคืออะไร เพราะประกาศฉบับนี้ออกตามกฎหมาย ส่วนเราก็ต้องทำตามกฎหมาย และชี้แจงว่า ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคืออะไร ผลเสียหากไม่มีประกาศนี้คืออะไร   หากไม่มีการกำหนดปริมาณไว้ ก็จะเป็นช่องว่าง แต่ถ้ากำหนดปริมาณไว้ เพื่อแยกคนเสพออกจากคนค้า แล้วเอาเข้าสู่การบำบัดและคืนสู่สังคมก็จะแก้ปัญหาได้ ซึ่งปัจจุบัน คนกลุ่มนี้มี 1,900,000 คน จะจัดการอย่างไรถ้าหากไม่เอาไปบำบัด จึงเป็นเหตุผลสำคัญกฎหมายให้ไปกำหนดในกฎกระทรวงเพื่อนำคนเหล่านี้เข้าสู่การบำบัด เดิมก็มีเรื่องครอบครองยาบ้า 15 เม็ด ตอนนี้เราปรับลดมาในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อคืนโอกาสคนที่ติดแล้วไม่ให้กลับไปติดใหม่ได้

เจตนากฎหมาย ลดผู้ค้ารายย่อย ที่เกิดจากผู้เสพ

ส่วนพฤติกรรมการขายนั้น ไม่จำเป็นต้องกำหนด 5 เม็ดด้วยซ้ำ แค่ถือ 1 เม็ด เพื่อขายก็ถือว่าผิดแล้ว ยืนยันว่ากฎหมายนี้ออกมาแล้วได้ผลแน่นอน เรามั่นใจว่า มาตรการ หลักของกฎหมายที่เขียนไว้ และเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เพื่อสกัดผู้ค้ารายย่อย เพราะส่วนใหญ่ ผู้ค้ารายย่อยจะเกิดจากผู้เสพ แล้วการกำหนดที่ 5 เม็ด นั้นผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ และผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ผ่านความเห็นชอบของกฤษฎีกา ถือว่า รอบคอบรอบด้าน ตนไม่ได้ออกเอง

ตอบปมโซเชียลฯล้อยาบ้า 5 เม็ดทำซื้อขายคึกคัก คนเสพครึกครื้น

เมื่อถามว่า ล่าสุดมีการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียล้อว่า ประกาศดังกล่าวทำให้การซื้อขายคึกคัก คนเสพครึกครื้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นั่นเป็นเพียงคำพูด หากมีพฤติการณ์ พฤติกรรมซื้อขายติดคุกแน่นอน เจ้าของร้านที่อยู่ในคลิปที่ปรากฎนั้นติดคุกหัวโต เพราะคุณเป็นคนขาย ส่วนที่บอกว่าครึกครื้นนั้นก็เพียงเพื่อกลบเกลื่อน ส่วนคนที่ไปซื้อนั้นเราให้โอกาสคุณแล้ว หากไม่สมัครใจบำบัดก็จะต้องมีโทษตามกฎหมาย ต้องมีการติดคุก แต่หากสมัครใจก็ต้องเข้ารับการบำบัด เมื่อครบเกณฑ์การบำบัดแล้วก็ไม่ต้องรับโทษ ลึกๆ เราต้องการตัดผู้ค้ารายย่อย ซึ่งผู้ค้ารายย่อยนั้นจะเริ่มจากการเสพ 1 เม็ด 3 เม็ดไปเรื่อยๆ จนมากขุ้นไม่มีเงินซื้อเลยแปลงเป็นผู้ค้ารายย่อย ดังนั้นเราจึงตัดวงจรแต่แรก 

บำบัดได้กี่ครั้ง อยู่ที่ดุลยพินิจ หากสมัครใจรักษาครั้งเดียวสำเร็จ

เมื่อถามว่า สรุปการบำบัดสามารถทำได้กี่ครั้ง เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า สามารถบำบัดได้เพียง 1 ครั้ง หากกลับไปเสพซ้ำก็จะต้องรับโทษตามกฎมหาย นพ.ชลน่านกล่าวว่า กฎหมายไม่ได้ระบุว่า บำบัดได้กี่ครั้ง อยู่ที่ดุลยพินิจ หากเขาตั้งใจ สมัครใจบำบัดครั้งเดียวก็น่าจะสำเร็จ แต่พฤติกรรมต่างๆ บางครั้งก็ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมด้วย หากกลับไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เปลี่ยนเราก็ต้องตามไปดูว่า เกิดจากอะไร สมควรให้โอกาสคนนั้นหรือไม่ เพราะตามกฎมหาย หากเขาสมัครใจเข้ารับการบำบัดอยู่ก็ยังได้สิทธินั้น แต่หากมีความตั้งใจที่จะกลับไปเสพซ้ำก็มีความผิด

แฟ้มภาพ