ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาค ปชช. เข้าพบประธานสภาฯ ยื่นหนังสือแสดงความห่วงใย ข้อเสนอรัฐบาลต่อการแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้มาตรการอ่อนแอลง เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิต วอน ส.ส.ทุกพรรคสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ฯ ของฝ่ายรณรงค์   

​วันนี้ (27 มี.ค.67) ที่รัฐสภา เกียกกาย ตัวแทนภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 30 คน ขอเข้าพบประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นหนังสือแสดงความห่วงใยถึงข้อเสนอของรัฐบาลต่อการแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเนื่องมาจาก มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 12 มีนาคม 2567 มีความเห็น 8 ประเด็นต่อการปรับแก้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับของกระทรวงสาธารณสุข และในวันนี้จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้ง 5 ฉบับ ในวาระแรก ซึ่งหนึ่งในนั้นมีร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับของ ภปค.อยู่ด้วย

นางดวงเดือน อินทนู ตัวแทนภาคีเครือข่าย ฯ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายฯ ในฐานะภาคประชาชนที่รณรงค์เพื่อหาทางป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความห่วงใยต่อข้อเสนอ 8 ข้อของคณะรัฐมนตรี ทั้งในเรื่องการเพิ่มเวลาขาย เพิ่มสถานทื่ขาย/ดื่ม เพิ่มการโฆษณา เพิ่มการส่งเสริมการขาย ซึ่งการทำให้มาตรการที่มีอยู่เดิมอ่อนแอลง เสี่ยงต่อการเพิ่มความสูญเสียต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และชีวิตประชาชน ที่สำคัญจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการเพิ่มการผูกขาดและเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม

ที่ผ่านมา มีการจัดเวทีพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ และรวมตัวกันเข้าพบ ส.ส.ในแต่ละเขต เกือบทุกจังหวัด เพื่อแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่วนตัวยังมองไม่เห็นว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นจากมาตรการนี้ได้อย่างไร ยิ่งถ้ารัฐบาลยังไม่มีมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาที่จะตามมายิ่งไปกันใหญ่ ยังมีข่าวผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สะเทือนใจอยู่ทุกวี่วัน ถ้าต้องแลกความสูญเสีย ความไม่ปลอดภัย แถมคนที่ได้ประโยชน์คือนายทุนผูกขาด ทั้งในธุรกิจแอลกอฮอล์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แต่คนที่ต้องเสีย ต้องจ่ายคือประชาชน จะเป็นเรื่องที่น่าหดหู่มาก จึงอยากให้ ส.ส.ทุกคนคิดให้รอบคอบและยืนเคียงข้างประชาชน

นายสันติ โฉมยงค์ ตัวแทนภาคีเครือข่าย ฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า แม้ว่าตนมีแนวคิดแบบเสรีนิยม แต่ตนเองทำงานกับเด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาส จึงเห็นว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเด็กและเยาวชน เป็นสิ่งที่ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่ปล่อยให้มีการขายเสรีเหมือนสินค้าชนิดอื่น ตนเองจึงสนับสนุน ร่างที่เสนอโดย ภปค. โดยนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบแสนคน มีเนื้อหาที่น่าสนใจ ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมโฆษณาและลดภาระของเจ้าหน้าที่โดยการเปลี่ยนเป็นระบบขออนุญาตก่อนการโฆษณา มีมาตรการห้ามนำเครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของธุรกิจมาแก้ไขดัดแปลงเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ในสินค้าอื่นเพื่อหลบเลี่ยงการควบคุม มีมาตรการเพิ่มสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งโดยให้ถือเป็นคดีผู้บริโภค ที่เรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือร้านค้าที่มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายรับผิดร่วมด้วย

ที่น่าสนใจมาก คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านการประชุมสมัชชาเครือข่ายควบคุมแอลกอฮอล์ ระหว่างที่ ร่างพ.ร.บ.ฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จึงอยากให้ส.ส.สนับสนุนร่าง พ.ร.บ ฉบับนี้ โดยคำนึงถึงเป้าหมายสูงสุดในการปกป้องคุณภาพชีวิต ความปลอดภัย และความยั่งยืนของสังคม ซึ่งหลักการ 5 เรื่องในการแก้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่สภาต้องยึดไว้ให้มั่น ได้แก่    

1) ต้องไม่เอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่  

2) ต้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน 

3) ต้องไม่เพิ่มการบริโภค  

4) ต้องไม่เพิ่มผลกระทบ   

5) ต้องเพิ่มการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ  

ต้องไม่ลืมว่านี่คือกฎหมายควบคุมไม่ใช่ส่งเสริม เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดา เป็นปัจจัยร่วมในปัญหาสังคมแทบทุกเรื่อง

​ด้านนายภัทรพงษ์​ กิตติวิริยะพันธุ์​ ตัวแทนภาคีเครือข่ายฯ จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า สภาพธุรกิจแอลกอฮอล์ปัจจุบันผูกขาดโดยธุรกิจรายใหญ่ การแก้ไขกฎหมายต้องคำนึงว่าเพื่อใคร  เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจรายใหญ่หรือไม่ ในขณะที่เยาวชนเสี่ยงต่อปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน มาตรการต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ในขณะที่ต้องไม่เพิ่มผลกระทบที่ยังป้องกันและแก้ไขไม่ได้ รวมถึงต้องเพิ่มมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย ทุกวันนี้ยังมีหลายกรณีที่พูดกันว่า “ตายฟรี” เพราะเหล้าเบียร์มีอยู่จริง ยิ่งไปเปิดทางให้สามารถขออนุญาตขายและดื่มได้ในสถานที่ราชการ คงจะมีแต่งานเมา งานดี ๆ ที่เคยสร้างเคยทำกันมา ปลอดเหล้าปลอดภัยดีอยู่แล้ว เวลาเกิดปัญหาคนที่อนุญาตจะรับผิดชอบกันไหวหรือ ที่สำคัญมีข้อมูลจากหลายแหล่งยืนยันว่า อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยอยู่ในระดับที่ลดลง การแก้ไข พ.ร.บ.ครั้งนี้ต้องไม่ทำให้อัตราการบริโภคเพิ่มขึ้น