ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ - แพทยสภาร่อนหนังสือแจ้งราชวิทยาลัยแพทย์ห้ามให้ความเห็นทางการแพทย์หรือวิชาการโดยตรง ต้องทำผ่านแพทยสภาก่อน อ้างเพื่อป้องกันถูกฟ้อง ด้าน "เครือข่ายผู้ป่วย-มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" ติงแพทยสภารวบอำนาจ เพื่อตัดช่องทางผู้ป่วยสู้คดี ชี้อาจมีผลให้ราชวิทยาลัยไม่กล้าให้ความเห็นได้ ขณะที่ "สปสช." ห่วงทำให้งานล่าช้า โดยเฉพาะการชดเชยความเสียหายผู้ป่วย ม.41

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ตามที่ทางแพทยสภาได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 20 ส.ค.2556 เรื่องการขอความเห็นทางวิชาการ ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งให้ทราบว่าต่อจากนี้ในการขอความเห็นทางวิชาการด้านการแพทย์จากราชวิทยาลัยให้ดำเนินการผ่านแพทยสภาแทน จากเดิมที่สามารถประสานงานโดยตรง เนื่องจากในการให้ความเห็นที่ผ่านมาทางราชวิทยาลัยและวิทยาลัยมักถูกดำเนินคดีฟ้องร้องในภายหลัง ซึ่งราชวิทยาลัยและวิทยาลัยไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และเมื่อถูกฟ้องร้องจึงต้องรับผิดชอบกันเอง นอกจากนี้ มีกรณีที่มีการขอความเห็นไปยังราชวิทยาลัยหลายแห่ง และบ่อยครั้งที่มีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง ดังนั้นหากดำเนินการผ่านแพทยสภาก่อนจะลดปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง 2 กรณี

นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับหน่วยงานที่มักขอความเห็นจากราชวิทยา ได้แก่ หน่วยงานด้านตำรวจ ศาล ประกอบคดีความฟ้องร้อง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในกรณีที่ต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายตามาตรา 41 และ 42 ซึ่งหลังจากนี้หน่วยงานเหล่านี้ที่ต้องการความเห็นทางการแพทย์จะต้องทำเรื่องผ่านมายังแพทยสภาทั้งหมด ส่วนกรณีที่เป็นห่วงในเรื่องความล่าช้านั้น ขณะนี้ทางแพทยสภาอยู่ระหว่างการเร่งรัดขั้นตอน เพื่อทำให้การให้ความเห็นเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านความเห็นจากคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ก่อน ทั้งนี้ ในกรณีนี้ไม่รวมถึงการสัมภาษณ์หรือให้ความรู้ในเชิงวิชาการ โดยเฉพาะการเผยแพร่ออกสื่อยังคงขอความเห็นจากราชวิทยาลัยได้เช่นเดิม

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ถึงแม้ราชวิทยาลัยหรือวิทยาลัยจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทยสภา และไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลก็ตาม แต่ราชวิทยาลัยหรือวิทยาลัยประกอบไปด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มใหญ่ ที่สมาชิกมีสิทธิแสดงความคิดเห็นเป็นส่วนตัวได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังมีสิทธิไม่เห็นด้วยกับความเห็นของแพทยสภาก็ได้ เนื่องจากการแสดงความเห็นใดของสมาชิกราชวิทยาลัยเป็นอิสระ ไม่ได้ผูกมัดใคร ซึ่งหากจะทำให้คนอื่นเสียหายก็สามารถฟ้องคนแสดงความเห็นได้อยู่แล้ว คนพูดในเมื่อเขากล้าพูดก็ย่อมกล้าที่รับผิดชอบคำพูดของตนเอง ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่แพทยสภาจะครอบงำทางความคิดของผู้อื่น แม้กระทั่งสมาชิกแพทยสภาเองก็มีจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับมติหรือความคิดเห็นของแพทยสภาได้เช่นกัน

"การแสดงความคิดเห็นของแพทยสภาใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป ดังจะเห็นศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนมติของแพทยสภา หรือมติของแพทยสภาที่บอกว่าคดีไม่มีมูลนั้น ศาลยุติธรรมพิพากษาให้คนไข้ชนะคดีก็มีมามากแล้ว ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่แพทยสภาจะครอบงำทางความคิดของผู้อื่น แม้กระทั่งสมาชิกแพทยสภาเองก็สามารถที่จะไม่เห็นด้วยกับมติหรือความคิดเห็นของแพทยสภาได้เช่นกัน" นางสาวปรียนันท์กล่าว

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การที่แพทยสภาทำอย่างนี้จะทำให้ขั้นตอนการทำงานเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น เพราะแพทยสภาก็ทำหน้าที่เป็นแค่ไปรษณีย์เท่านั้น การทำอย่างนี้รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาผู้บริโภคทางด้านสาธารณสุขมีข้อจำกัดที่ผู้เชี่ยวชาญไม่ยอมมาเป็นพยานในการดำเนินคดีความต่างๆ ความเห็นของราชวิทยาลัยจึงเป็นข้อมูลเดียวที่สามารถใช้เป็นหลักฐานได้ เป็นช่องทางเดียวที่จะทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม ถ้าแพทยสภาตัดช่องทางนี้อีก ประชาชนแทบจะไม่มีช่องทางอื่นอีกเลย ทั้งนี้ สิ่งที่กังวลถ้าทำแบบนี้ เมื่อราชวิทยาลัยให้ความเห็นผ่านมาที่แพทยสภาอาจจะถูกนำไปเป็นมติและแก้ไขความเห็น

"คิดว่าราชวิทยาลัยยังเป็นอิสระ ที่เราสามารถขอความเห็นโดยตรงไปยังราชวิทยาลัยได้ แต่ราชวิทยาลัยจะให้หรือไม่ให้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะการที่แพทยสภาออกหนังสือมาอย่างนี้อาจจะทำให้ราชวิทยาลัยไม่กล้าให้ความเห็น" นางสาวสารีกล่าว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานทั้งหลาย ซึ่งรวมถึงหน่วยบริการที่ต้องการคำตอบเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล จะต้องขอความเห็นมายังราชวิทยาลัยโดยตรง ล่าสุดที่มีหนังสือจากแพทยสภาที่ขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่าต่อจากนี้หากต้องการความเห็นทางการแพทย์จากราชวิทยาลัยต่างๆ จะต้องขอผ่านแพทยสภาเท่านั้น ส่วนตัวแล้วไม่ทราบว่าแพทยสภามีแนวคิดอย่างไรที่ออกหนังสือฉบับนี้มา แต่การขอความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้การทำงานมีข้อจำกัดมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเวลา การทำงานวนไปวนมา ทำให้เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นเรื่องนี้อยู่ที่ว่าแพทยสภาจะจัดระบบการทำงาน การประสานงานอย่างไร

นพ.ประทีปกล่าวว่า เรื่องที่ สปสช.จะขอความเห็นจากราชวิทยาลัยจะมี 2 เรื่องคือ 1.เรื่องการ ออกแบบตัวระบบ เช่น ระยะเวลา และช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับการฉีดวัคซีนแต่ละตัวจะเป็นอย่างไร ตรงนี้จะไม่มีปัญหา สามารถรอได้ แต่อีกกรณีคือปัญหาการร้องเรียนเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาล และการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการรับบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ตรงนี้จะต้องเวลาที่รวดเร็วระดับหนึ่ง และ การทำงานร่วมกับราชวิทยาลัยไม่ได้มีปัญหาอะไร โดยระยะเวลากว่าจะได้รับคำตอบก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  วันที่ 18 กันยายน 2556