ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -ปัญหาเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนของบุคลาการทางการแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ยังกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่มีที่ท่าว่าจะจบลงได้ง่ายๆ แม้ล่าสุดเหมือนจะมีข้อตกลงกันได้ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายที่คิดค้นวิธีการจ่ายแบบพีฟอร์พี ขึ้นมา และล้มล้างระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายอันเดิมลง ซึ่งนำไปสู่การต่อต้านอย่างรุนแรงจากฝั่งชมรมแพทย์ชนบท จนเรื่องไปถึงขั้นการพูดคุยเจรจาในทำเนียบรัฐบาล และมาปะทุอีกครั้งเมื่อชมรมแพทย์ชนบทประกาศจะชุมนุมหน้าบ้านนายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ก็เหมือนจะตกลงกันได้ เมื่อมีการเจรจากันก่อนที่กระทรวงสาธารณสุขจนได้ข้อยุติในระดับหนึ่ง แต่ข้อตกลงจากการเจรจาครั้งนี้ ก็ทำให้วิชาชีพอื่นๆไม่พอใจ และมีความเห็นต่างออกไป

ทั้งนี้ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุขนั้น ได้อ้างสาเหตุของการจัดทำระเบียบค่าตอบแทนขึ้นมาแทนของเดิมว่า เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าระเบียบค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4 และ 6 มีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพและภายในวิชาชีพ จึงได้มีการทบทวนระบบค่าตอบแทนทั้งระบบ โดยมติของคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2556 เห็นชอบอัตราค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ตามพื้นที่และระดับโรงพยาบาลชุมชน ก่อนจะผ่านเรื่องเข้าครม.ในวันที่ 31 มี.ค. 2556 และประกาศออกมาเป็นระเบียบค่าตอบแทนฯ ฉบับที่ 8 ใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2556 โดยมีเนื้อหาปรับลดอัตรากลุ่มแพทย์และทันตแพทย์ ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชนเขตเมืองที่เจริญแล้ว และปรับลดอัตราของแพทย์ ทันตแพทย์ที่อายุงาน 21 ปีขึ้นไปให้เหลือเท่ากับอายุงาน 11-20 ปี ซึ่งมีบุคลากรจากหลายกลุ่มออกมาให้การสนับสนุนระเบียบดังกล่าว

ขณะที่กลุ่มแพทย์ชนบทเห็นว่า ระเบียบดังกล่าวออกมาเพื่อตัดสิทธิ ตัดขวัญกำลังใจของบุคลากรที่เสียสละไปทำงานในพื้นที่ทุรกันดาร จึงรวมตัวกันออกมาคัดค้านและเรียกร้องให้กลับไปใช้ระเบียบฉบับเดิม จนนำไปสู่การเจรจากัน 3 ฝ่ายคือกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ชนบท และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล เมื่อเดือนมิ.ย. 2556 และมีข้อสรุปให้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบค่าตอบแทนเหมาจ่ายภายใน 60 วัน เร่งชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหาย โดยมีการตั้งคณะทำงานพิจารราร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วยเสียโดยมีดร.คณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธานคณะทำงาน

ล่าสุดทางกลุ่มแพทย์ชนบทได้รวมตัวกันมาที่กระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมาเพื่อทวงถามความคืบหน้าการดำเนินการตามมติที่ได้สรุปร่วมกัน เบื้องต้นได้ขอให้ดำเนินการใน 3 ประเด็น คือ 1.อายุงาน ขอให้เพิ่มเพดานการจ่ายค่าตอบแทนให้แพทย์ที่ทำงานอายุงาน 21 ปี 2.แก้ความเหลื่อมล้ำสถานะระหว่างโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไป เนื่องจากมีอัตราค่าตอบแทนที่ไม่เท่ากัน ทั้งที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน และ 3.ให้ปรับอัตราการจ่ายค่าตอบแทนที่ถูกปรับเปลี่ยน โดยขอให้คงในอัตราเดิมที่เคยได้รับ

การออกมาทวงคำตอบจากกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ของกลุ่มแพทย์ชนบท พร้อมทั้งตั้งเงื่อนไข 3 ข้อดังที่กล่าวไปแล้วนั้นทำให้กลุ่มที่สนับสนุนระเบียบค่าตอบแทนฉบับที่ 8 เตรียมออกมาเคลื่อนไหวไม่ยินยอมให้มีการใช้ระเบียบที่มีสาระเดียวกับฉบับที่ 4 เช่นเดียวกัน โดย

ดร.กฤษดา แสวงดี 

ดร.กฤษดา แสวงดี สภาการพยาบาล ได้ออกมาเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางสภาการพยาบาลได้รับข้อเรียนเรื่องความไม่เป็นธรรมมาหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องของความก้าวหน้าที่แพทย์เป็น ซี 9 ได้ทุกตำแหน่งโดยไม่ต้องมีตำแหน่งยุบรวม ในขณะที่วิชาชีพอื่นๆ ก้าวหน้าไม่ได้ถ้าไม่มีตำแหน่งว่างยุบรวม กับข้อร้องเรียนที่ 2 คือค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมจากระเบียบค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4 ซึ่งการที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับปรุงและออกเป็นค่าตอบแทนฯ ฉบับ 8,9 นั้นทำให้กลุ่มของพยาบาลพอใจและรับได้ในระดับหนึ่งที่อย่างน้อยก็ช่วยลดช่องว่างในเรื่องของค่าตอบแทนระหว่างวิชาชีพไปได้พอสมควร แต่การที่แพทย์ชนบทมาเรียกร้องให้ออกฉบับ 10 เนื้อหาเดียวกับฉบับที่ 4 ซึ่งเดิมก็คือระเบียบที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมระหว่างวิชาชีพสูงถึง 27 เท่า

“ทุกวิชาชีพเขาก็ไม่ได้พอใจกับความเหลื่อมล้ำที่ได้ลดลงมาแล้ว แต่ยินดีที่จะให้กระทรวงฯ เดินหน้า ปรับปรุงไปข้างหน้า แต่พอมาวันที่ 20 บอกว่าให้กลับไปที่เดิม ให้ทำให้แพทย์ก่อนด้วย แพทย์ชนบทประกาศชัยชนะว่าได้ฉบับที่ 4 คืน มันแปลว่าอะไร พี่ไม่เข้าใจ เขาก็ถามว่าฉบับที่ 4 ทำให้ห่างกัน 27 เท่าเหมือนเดิม เขาบอกไม่รู้แหละเขาต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ที่เขาต้องการให้กระทรวงเดินไปข้างหน้า เพราะมีข้อหนึ่งบอกว่าให้เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการออกฉบับที่ 8 ยิ่งการออกฉบับที่ 8.1 ช้าเท่าไหร่เขาก็ได้รับการเยียวยาไปเต็มที่อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน 27 เท่าก็ยืดเยื้อออกไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นกลุ่มสหวิชาชีพจึงต้องการให้หยุดการเยียวยาและออกฉบับที่ 8.1 ออกมาให้เร็วที่สุด” ดร.กฤษดา กล่าว

ขณะที่ นางกรรณิกา ปัญญาอมรวัฒน์ ผู้นำกลุ่มพยาบาลลูกจ้าง กล่าวว่า เห็นด้วยกับระเบียบค่าตอบแทนเหมาจ่ายฉบับที่ 8 แม้จะจ่ายในระดับที่ลดลง แต่ไม่เห็นด้วยกับอัตราที่กำหนดในฉบับที่ 4 เพราะว่าฉบับที่ 4 นั้นมากเกินไปแต่ไม่สะท้อนงานที่แพทย์ ทันตแพทย์ต้องทำให้กับประชาชน อีกทั้งสัดส่วนค่าตอบแทนยังห่างจากวิชาชีพอื่นๆ ค่อนข้างมาก ทั้งๆ ที่คนทำงานที่เดียวกัน ทั้งนี้ตนเห็นความสำคัญของแพทย์ต่อระบบสาธารณสุข แต่ไม่ควรต่างกันมากเป็น 20 เท่าขนาดนี้ จึงอยากเสนอผู้บริหารควรลดช่องว่างหน่อยได้หรือไม่ เช่น เภสัชกรเพิ่มสเต็ปท์ละ 500 บาท พยาบาลเพิ่มสเต็ปท์ละ 600 บาท  จะช่วยลำความเหลื่อมล้ำลงเหลือเพียง 8 เท่า อันนี้ทางพยาบาลยังรับได้

อีกประเด็นหนึ่งคือ เอาเงินอีกก้อนมาจ่ายตามผลงาน หรือ P4P เพื่อจูงใจให้คนทำงาน ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ส่วนตัวเลขจะต่างกันอย่างไรแล้วแต่ละพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลเล็ก 10 เตียงจะวัดจากปริมาณงานไม่ได้ แต่สิ่งที่เขาต้องทำคือการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี หน่วยงานต้องคิด แต่กระทรวงต้องออกประกาศกว้างๆ ว่าให้เอาเงินนี้มาทำเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการและการพัฒนาองค์กร ขอให้ลดช่องว่าง และขอให้ออกฉบับ 9 สักทีเพราะเรารอมา 6 เดือนแล้ว

“เพราะแพทย์ชนบทออกมา เราถึงต้องไปวันจันทร์นี้ (25 พ.ย.) ไง เพราะเขาบอกว่าวิชาชีพอื่นจะทำได้หรือไม่ได้เขาไม่สนใจ ขอให้วิชาชีพเขาได้ก่อน มันเป็นไปไม่ได้ ไม่ควรจะออกมาแบบนี้ คนทำงานด้วยกันก็ควรจะขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ไม่ใช่ฉันอยากทำฉันขอก่อน งบประมาณมันเป็นของทุกคน ทุกคนช่วยกันทำงาน ไม่ใช่แค่วิชาชีพเดียวที่ทำงาน ความจริงก็ไม่มีใครอยากรอ จะมาเสียสละเพื่อวิชาชีพเดียวคงเป็นไปไม่ได้ มันจะต้องทำไปด้วยกัน แต่จริงๆ วิชาชีพอื่นไม่ได้มีอะไรเลย แต่คนที่ออกมาค้านคือแพทย์ชนบทที่ไม่พอใจในเรตค่าตอบแทนตั้งนานแล้ว คนอื่นเขาโอเคกับฉบับ 8 มานานแล้ว” นางกรรณิกา กล่าว

พร้อมกันนี้ นางศิริรัตน์ ลิกานนท์สกุล ผู้แทนสหวิชาชีพทางการแพทย์ 7 วิชาชีพ (เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด รังสีการแพทย์ กิจกรรมบำบัด จิตวิทยาคลินิก เวชศาสตร์สื่อความหมาย เทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก) กล่าวว่า เข้าใจว่าแพทย์คือผู้นำต้องได้รับค่าตอบแทนสูงเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ไปทำงานในพื้นที่ทุรกันดาร แต่สายงานอื่นก็ขาดแคลนเหมือนๆ กัน เงินพวกนี้ก็เป็นแรงจูงใจให้คนอื่นๆ อยู่ในพื้นที่เหมือนๆ กัน การทำงานของนักเทคนิคการแพทย์คนอื่นอาจจะมองว่าอยู่เบื้องหลัง แต่เราทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ และทำงานเสียสละเหมือนกัน เข้าเวร 24 ชั่วโมงเหมือนกัน ครอบครัวของเราก็ถูกจำกัดสิทธิเหมือนกับแพทย์ ดังนั้นจึงไม่อยากให้มีความเหลื่อมล้ำมาก เป็นค่าตอบแทนที่ทัดเทียม คำว่าทัดเทียมไม่ได้หมายความว่าจะต้องได้เท่ากับแพทย์ แต่ไม่ใช่แตกต่างกันมาก คนเรามันต้องกินต้องอยู่ ค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายไม่ควรแตกต่างกันมาก  

“ทั้งนี้ระเบียบค่าตอบแทนฯ ฉบับที่ 8 เป็นระเบียบที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้ให้กับเราได้บ้าง แต่ถ้าออกระเบียบฉบับใหม่มาอีกและมีรายละเอียดเหมือนฉบับที่ 4 เราไม่ยอม ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ ระเบียบฉบับที่ 10 ของชมรมแพทย์ชนบทที่ทำออกมานั้นเคยมีการคุยกันและขอให้ปรับปรุงแล้วด้วย แต่แพทย์ชนบทก็ไม่เคยเอามาทำในลักษณะที่เป็นการประชุม มีแต่เอาไปทำแล้วเรียกน้องๆ ไป น้องๆ ก็เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ที่สำคัญคือการแก้ไขปรับปรุงระเบียบค่าตอบแทนฯ นั้นมีการคุยกันในวงประชุมที่ได้รับการแต่งตั้ง ได้รับการยอมรับโดยมีดร.คณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธาน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการประชุมกันโดยตลอด เรายอมรับในตรงนี้มากกว่า”

“เรื่องนี่มันต้องมีการพูดคุยกันต่อหน้า ไม่ใช่ประชุมกันนอกรอบแล้วบอกว่ามาครบทุกวิชาชีพแล้วเอากระดาษมาวางกอง ยังไม่ทันได้คิดว่าได้มากได้น้อย แต่ก็บอกว่าเป็นองค์ประชุมที่ถูกต้องอย่างนี้มันไม่ใช่ เรายอมรับในหลักการที่มาจากที่ประชุม แต่ไม่ยอมรับหลักการจากคนข้างนอกมาเขียนโดยที่ไม่ผ่านกระบวนการยอมรับในที่ประชุม อยู่ในที่ประชุมเถียงกันให้จบเรายอม แต่ถ้าบอกไม่พอใจแล้วไปทำข้างนอกอย่างนี้มันเป็นเรื่องแปลก มันเหมือนกับการเลือกตั้งที่เราต้องยอมรับกติกาก่อน กติกายังไม่ยอมรับ แล้วเราจะไปยอมรับเอกสารของเขาได้อย่างไร" ผู้แทนสหวิชาชีพทางการแพทย์ 7 วิชาชีพ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

พยาบาลฮึ่ม! หมอชนบทเห็นแก่ตัว ขอค่าตอบแทนก่อน ระดมม็อบพันคนร้องสธ.