ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์ชี้ผู้สูงวัยเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต  แนะตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง  ระบุหากพบอาการแขน ขา อ่อนแรงครึ่งซีก เดินเซ พูดลำบาก กลืนลำบาก ตามองไม่เห็น หรือมองเห็นภาพซ้อน ปวดศีรษะเฉียบพลัน อาเจียน  รีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุดภายใน  3 ชั่วโมง  

วันนี้ (23  มิถุนายน  2557)  ที่โรงแรมที เค  พาเลส  กรุงเทพมหานคร  นายแพทย์สุพรรณ  ศรีธรรมมา  อธิบดีกรมการแพทย์  \ เปิดเผยภายหลังการอบรม  เรื่อง  Stroke management : stroke prevention in Elderly  ว่า โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตเป็นโรคที่ทำให้ผู้สูงอายุสูญเสียสุขภาวะอันดับแรกทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งผู้ป่วยด้วยโรคนี้ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตหรือพิการช่วยเหลือตนเองไม่ได้  ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกประมาณว่าทุกปี   มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 15 ล้านคนทั่วโลก ซึ่ง 5 ล้านคนมีความพิการถาวร  และอีก 5 ล้านคนเสียชีวิต พบว่าสองในสามเป็นประเทศกำลังพัฒนา  กรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร เพื่อผู้สูงอายุ จึงตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ  เน้นในด้านการป้องกันโรค โดยประเมินหาปัจจัยเสี่ยง และการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม ตามตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุข  เพื่อให้อัตราการตายจากโรคหลอดเลือดสมองลดลง ไม่เกิน 12 ต่อประชากรแสนคน  โดยกำหนดมาตรการพัฒนาระบบบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้มีคุณภาพทั้งในสถานบริการและการบริการเชิงรุกในชุมชน  เพื่อให้สอดคล้องกับแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการเพื่อพัฒนางานด้านผู้สูงอายุระดับชาติ  และการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุ ให้มีการส่งเสริมและสนับสนุน  รวมทั้งให้มีการผลิตหรือฝึกอบรมบุคลากรด้านผู้สูงอายุ ทั้งระดับวิชาชีพ และผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพและมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง  เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย   

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า  โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีประวัติญาติสายตรงเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม  ภาวะน้ำหนักเกิน สูบบุหรี่และภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ   ดังนั้นผู้สูงอายุหรือผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุจึงควรสังเกตสัญญาณเตือนที่อาจก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง  ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการทางระบบประสาทอย่างเฉียบพลัน  อาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอาการร่วมกัน  เช่น แขน ขา อ่อนแรงครึ่งซีก เดินเซ พูดลำบาก กลืนลำบาก ตามองไม่เห็น หรือมองเห็นภาพซ้อน สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตกนั้น อาจมีอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน อาเจียน ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการซึม หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้  จึงต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุดภายใน  3 ชั่วโมง จะสามารถช่วยรักษาชีวิตและฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงได้มากที่สุด

สำหรับแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสำหรับผู้สูงอายุ  คือ ควบคุมความดันโลหิตสูง  เบาหวาน  ไขมันในเลือด  มีกิจกรรมทางกายที่เคลื่อนไหว  และออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก ไม่ปล่อยให้อ้วน  จำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และบุหรี่มือสอง ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้วต้องรักษาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด