ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘นพ.วชิระ’ อัด สปสช.ไร้ธรรมาภิบาล ในเวทีปฏิรูประบบสาธารณสุข ที่สนช.-สปช.จัด เผยมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นบอร์ดสปสช.โดยคนกลุ่มเดิมๆ ชี้การเกิดขึ้นขององค์กร ส. ทำให้การทำงานไม่มีเอกภาพ อีกทั้งตอนนี้จะเสนอตั้งอีก 2 หน่วยงาน แต่ไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีแทน เสนอตั้งคกก.นโยบายสาธารณสุขระดับชาติกำหนดทิศทางสุขภาพในภาพรวม แต่ไม่จำเป็นต้องแยกกรมใหม่ อาจให้ขึ้นกับ สป.สธ.แทน ยันไม่ใช่การปฏิรวบ ส่วนประชุม คกก.สอบข้อเท็จจริง สธ.-สปสช. ที่มี อัมมารเป็นประธานนัดแรกล่ม ไร้เงาปลัดเข้าร่วม

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดสธ. ได้กล่าวระหว่างการสัมมนา “การปฏิรูประบบสาธารณสุข ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” ซึ่งจัดโดย กรรมาธิการ (กมธ.) สาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกมธ.สาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า กล่าวว่า ข้อเสนอของ สธ.ต่อการปฏิรูประบบสาธารณสุข ได้แก่ การเสนอตั้งคณะกรรมการนโยบายสาธารณสุขระดับชาติ เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายสุขภาพในภาพรวม หรือถึงเป็นศูนย์กลางการจัดการข้อมูลในระบบสาธารณสุข โดยให้มีโครงสร้างคล้าย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน แต่ไม่จำเป็นต้องแยกออกเป็นกรมใหม่ อาจให้ขึ้นกับสำนักงานปลัดสธ.แทน โดยเป็นร่มใหญ่ในการกำกับทิศทาง ทั้งองค์กรอิสระในสังกัดสธ. (ตระกูลส.) รวมถึง โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชน ยืนยันว่าไม่ใช่การ “ปฏิรวบ” แน่นอน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การเกิดขึ้นขององค์กรตระกูลส. ทำให้การทำงานไม่เป็นเอกภาพ ต่างคนต่างทำงานของตัวเอง และมีคณะกรรมการซ้ำซ้อนมากไป โดยขณะนี้ทราบว่าจะมีองค์กรตระกูลส. ขึ้นอีก 2 หน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานเคลียร์ริงเฮาส์ประกันสุขภาพ 3 กองทุน ซึ่งโครงสร้างต้องการให้ไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งโดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไม่มีทางรู้เรื่องสาธารณสุข และอยากตั้งข้อสังเกตว่าการให้ไปขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ต้องการให้คนที่รู้เรื่องอย่างสธ.รับรู้การทำงานหรือไม่

นอกจากนี้ รองปลัดสธ. ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา มีตั้งแต่การใช้ระบบการเงินการคลังนำหน้า การจัดสรรงบประมาณ ที่มีการหักเงินเดือน จนเกิดความแตกต่างในระดับพื้นที่ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ และขาดธรรมาภิบาล เช่น มีการแบ่งกองทุนย่อยจำนวนมาก โดยมี “ผู้มากบารมี” ดูแลแต่ละกองทุนย่อย รวมถึงการเวียนเทียนผลัดเปลี่ยนกันดำรงตำแหน่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยคนกลุ่มเดิมๆ รวมถึงยังมีการโอนเงินโดยไม่มีหลักเกณฑ์และหักคืนเพื่อตบแต่งบัญชี

นพ.วชิระ เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจากภายนอก ปรับหลักเกณฑ์จัดสรรให้มีธรรมาภิบาล ขณะเดียวกัน ให้ปฏิรูปโครงสร้าง ที่มา คณะกรรมการให้มีธรรมาภิบาล ให้มีกลไกการกำกับการบริหารงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และให้ปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ.ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข้อมูลนำเสนอที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมี ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธานนั้น (ดูรายละเอียดที่นี่) ในวันนี้ (10 ก.พ.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการนัดแรก แต่ไม่สามารถประชุมได้ เนื่องจากไม่มีตัวแทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) เข้าร่วม ซึ่งในที่ประชุมได้มีการแจ้งว่า ได้มีการส่งหนังสือเชิญ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. ประชุมตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ไม่มีการตอบรับ และทางเลขานุการไม่ได้แจ้งว่าจะมอบใครมาประชุมแทน ซึ่งดร.อัมมาร ไม่สามารถติดต่อ นพ.ณรงค์ได้ การประชุมจึงต้องยกเลิก และ ดร.อัมมารให้เลื่อนการประชุมไปก่อนจนกว่า จะติดต่อ นพ.ณรงค์ได้ โดยระบุว่า หากไม่มีตัวแทน สป.สธ.เข้าร่วมประชุม ก็ไม่สามารถดำเนินงานได้