ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จะมีแนวทางใดที่จะช่วยให้ประชาชนได้รับบริการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง ผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขได้ร่วมกันเสนอแนวคิด 11 ข้อเพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขทั่วโลก

1.ยอมรับเถิดว่า “บริการสาธารณสุขสมบูรณ์แบบ” ไม่มีอยู่จริง

บริการสาธารณสุขทุกแนวทางล้วนเผชิญกับความท้าทายทั้งในด้านศักยภาพของระบบ งบประมาณ และธรรมาภิบาล หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยและศรีลังกาประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชมในการปฏิรูปบริการสาธารณสุขถ้วนหน้าด้วยแนวทางที่แตกต่างกัน โดยไทยเน้นไปที่การอุดหนุนงบประมาณการสาธารณสุขมูลฐานอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อินเดียมุ่งไปที่การประกันสุขภาพถ้วนหน้าผ่านหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน (ไปรยา บาลาสุพรามานิอัม เจ้าหน้าที่อาวุโสโครงการ PHFI-RNE Universal Health Initiative มูลนิธิสาธารณสุขแห่งอินเดีย กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย)

2.คนรวยและคนจนได้รับบริการสุขภาพจากผู้ให้บริการเดียวกัน

การให้บริการคู่ขนานโดยกำหนดให้ “บริการของรัฐ” ดูแลคนจนและภาคเอกชนดูแลคนรวยก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ จึงจำเป็นที่คนรวยและคนจนจะต้องได้รับบริการสุขภาพจากผู้ให้บริการเดียวกันเพื่อให้ภาคการเมืองตระหนักถึงคุณภาพของบริการรักษาพยาบาลในฐานะปัจจัยที่ส่งผลสืบเนื่องไปถึงฐานเสียงด้วย (โจลีน สกอร์ดิส ศูนย์ยูซีแอลเพื่อเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขสากล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ)

3.ให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

การเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชมีความจำเป็นต่อการสาธารณสุขมูลฐานเพื่อที่จะบรรลุถึงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในกรอบเวลาที่กำหนด จากประสบการณ์การทำงานในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาสะท้อนว่ารัฐบาลมักไม่สามารถเดินหน้าไปเพียงลำพังและถึงเวลาแล้วที่จะต้องริเริ่มแนวทางใหม่ เราจำเป็นต้องผสมผสานกลไกการให้บริการ ขยายการประกันสุขภาพ โดยที่รัฐบาลเองก็ต้องผลักดันการประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด ซึ่งแนวคิดที่กล่าวมากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการในประเทศเคนยา (สิทธารถะ จัตเตอร์จี เจ้าหน้าที่ประสานงานสหประชาชาติประจำกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา)

4.เรียนรู้จากประเทศที่ประสบผลสำเร็จ

ถึงแม้ระบบสาธารณสุขของประเทศกานาไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุดแต่ก็มีพื้นฐานที่ดีและพัฒนาขึ้นเป็นลำดับตลอดหลายปีที่ผ่านมา พื้นฐานที่ดีดังกล่าวประกอบด้วยความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ชาวกานาได้รับบริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพดีและไม่แพง รวมถึงความพยายามเฉลี่ยความเสี่ยงในระดับประเทศเพื่อให้คนที่รวยกว่าและมีสุขภาพดีกว่าช่วยแบ่งเบาภาระของคนยากจนและป่วยไข้

หลังจากที่ริเริ่มด้วยการประกันสุขภาพระดับชุมชนกานาก็ดำเนินมาถึงการประกันสุขภาพระดับชาติแล้ว ซึ่งขณะนี้ก็กำลังอยู่ระหว่างแก้ไขความท้าทายด้านการซื้อบริการสุขภาพเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้และมีความยั่งยืน ด้านภาคเอกชนของกานาเองก็มีบทบาทสำคัญในการให้บริการสุขภาพดังที่ผลการศึกษาวิจัยโดยธนาคารโลกชี้ว่าการรับบริการจากภาคเอกชนมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งจากอัตราการเข้ารับบริการสุขภาพโดยรวม (ไซเซลี โธมัส เจ้าหน้าที่อาวุโสของโครงการ Results for Development กรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา)

5.เก็บภาษีเพิ่มเพื่อให้คนจนเข้าถึงบริการ

บริการรักษาพยาบาลในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มักดำเนินการโดยภาคเอกชนโดยมีรัฐคอยกำกับและสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งข้อมูลที่ผ่านมาล้วนชี้ตรงกันว่าระบบบริการรักษาพยาบาลที่เป็นธรรมนั้นจะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของการเกื้อหนุนจากคนรวยสู่คนจน และจากผู้ที่มีสุขภาพดีสู่ผู้ที่เจ็บป่วย การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าและการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐเพื่อประกันการเข้าถึงบริการจึงเป็นหัวใจสำคัญของการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้อย่างถ้วนหน้า (แอกเนส ซูกัต เจ้าหน้าที่การคลังและการอภิบาลสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์)

6.อย่ากำหนดเป้างบประมาณสาธารณสุขแบบตายตัว

คำประกาศอาบูจาขีดเส้นให้รัฐบาลกลุ่มประเทศแอฟริกาจัดสรรงบประมาณสาธารณสุขที่ร้อยละ 15 ของจีดีพีซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งยังไม่จำเป็น

สิงคโปร์จัดสรรงบประมาณสาธารณสุขที่ตัวเลขราวร้อยละ 5 ของจีดีพีและประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการประกันว่าประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพดี

ขณะที่ศรีลังกากำหนดเป้าระหว่างร้อยละ 3-5 และอินเดียพยายามผลักดันให้ได้ตัวเลขร้อยละ 2.5

ประเด็นสำคัญนั้นอยู่ที่ว่าเราจะใช้งบประมาณให้คุ้มค่าที่สุดได้อย่างไร และการประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่สามารถอ้างอิงกับตัวเลขจีดีพีตายตัวเนื่องจากแต่ละประเทศมีทรัพยากรที่ต่างกัน และเป็นที่น่าเสียดายว่าทรัพยากรในภาคสาธารณสุขมักใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยมักเน้นไปที่การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเป็นหลัก (สิทธารถะ จัตเตอร์จี และไปรยา บาลาสุพรามานิอัม)

7.เพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันโรค

การสาธารณสุขไม่ใช่เพียงของขวัญจากกระทรวงสาธารณสุข และแท้จริงแล้วสุขอนามัย ที่อยู่อาศัย สวัสดิการ และการศึกษาก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในพื้นฐานสำคัญสำหรับการยกระดับสุขภาพของประชาชน เราไม่ควรมองการสาธารณสุขในฐานะยาหรือโครงการเพื่อรักษาโรคเท่านั้น หากยังรวมไปถึงน้ำสะอาดและอาหารที่ไม่ทำให้เราเสี่ยงต่อโรคเบาหวานหรือแคระแกร็น การศึกษาสำหรับประกอบอาชีพและใช้จ่ายสำหรับที่อยู่อาศัยของครอบครัว รวมไปถึงการชะลอการแต่งงานหรือท้องก่อนวัยอันควรในเด็กหญิงกลุ่มเสี่ยง

ที่ผ่านมาการป้องกันมักไม่ใช่หัวข้อหลักของนโยบาย ซึ่งอาจเป็นได้ว่าประชาชนยังไม่เกิดเจ็บป่วยจึงทำให้ยากที่จะชี้ให้ประชาชนและผู้กำหนดนโยบายมองเห็นประโยชน์ของมาตรการเชิงป้องกัน ทั้งที่จริงแล้วการป้องกันโรคนั้นเป็นวิธีที่ให้ผลคุ้มค่าที่สุด (โจลีน สกอร์ดิส)

8.ขยายผลลัพธ์ในวงกว้าง

ในบริบทที่มีทรัพยากรจำกัดนั้นจะมีมาตรการใดที่ช่วยให้ระบบสาธารณสุขทั้งระบบเข้มแข็งขึ้น มาตรการที่ลงลึกไปยังโรคใดโรคหนึ่ง เช่น เน้นไปที่เอชไอวีโดยผ่านโครงการ PEPFAR และ Global Fund สามารถช่วยให้ระบบสาธารณสุขโดยรวมเข้มแข็งขึ้นจากการลดภาระโรคของเอชไอวีและลดการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก (อานันท์ เรดดี ฝ่ายกิจการองค์กรและการแพทย์ บรรษัทไกลีดไซแอนซ์ นครซานฟานซินโก ประเทศสหรัฐอเมริกา)

9.เน้นความเท่าเทียมที่ไม่ใช่เพียงตัวเลขผู้รับบริการ

หากมองย้อนกลับไปที่เป้าการพัฒนาแห่งสหัสวรรษจะเห็นได้ว่าการมุ่งขยายจำนวนผู้รับบริการนั้นส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเท่าเทียม บ่อยครั้งที่นโยบายระดับชาติมองข้ามไปว่าโครงการพัฒนาจะเข้าถึงประชากรกลุ่มย่อยได้อย่างไรเพื่อที่พวกเขาจะได้รับประโยชน์จากบริการที่จัดสรรให้ ปัญหานี้มักรุนแรงในพื้นที่ยากไร้ซึ่งบริการตั้งอยู่บนแนวคิดเรื่องการคืนทุน (เฮเลน แฮมิลตัน ที่ปรึกษานโยบายสาธารณสุข บริษัทไซเซเวอร์ เฮวาร์ดส์ ฮีธ ประเทศอังกฤษ)

10.ยอมรับว่าเงินส่งผลต่อการบริการ

กรณีของอินเดีย (รวมถึงแอฟริกาใต้ บราซิล และสหรัฐฯ) สะท้อนว่าผู้ใช้บริการรักษาพยาบาลอาจไม่ใช่ปัจจัยชี้วัดบริการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุด เพราะเรายังคงต้องพึ่งคำแนะนำจากแพทย์ ซึ่งแพทย์ก็อาจหาประโยชน์จากการให้คำแนะนำที่ไม่เหมาะสมแต่ไม่เป็นอันตราย (เช่น ให้ผู้ป่วยจ่ายค่ารักษาเองได้รับหัตถการที่ไม่จำเป็น) ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลในภาคเอกชนถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วไปถึงจุดที่กระทั่งชนชั้นกลางในแอฟริกาใต้และสหรัฐฯ ก็ไม่มีเงินพอที่จะซื้อประกันสุขภาพ หากเราต้องการให้บริการรักษาพยาบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลก็จำเป็นที่จะต้องดึงแรงจูงใจทางการเงินออกจากตัวบริการ (โจลีน สกอร์ดิส)

11.ยอมรับว่าการเมืองเป็นปัจจัยกำหนด

หากเราต้องการปิดช่องว่างการให้บริการรักษาพยาบาลและเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดการประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วโลก ก็จะต้องไม่ลืมพิจารณาถึงบรรยากาศและภูมิทัศน์ทางการเมืองในแต่ละประเทศด้วย หลายประเทศ (รวมถึงสหรัฐฯ) พัฒนาแนวทางที่จะผลักดันสู่การประกันสุขภาพถ้วนหน้าและมีบุคลากรทรงคุณภาพที่จะบริหารระบบสาธารณสุขของตน ทว่าเป้าหมายดังกล่าวยังคงเป็นไปได้ยากหากปราศจากการสนับสนุนของภาคการเมือง (ไซเซลี โธมัส)

ที่มาจาก How to make global universal healthcare a reality : The Guardian