ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตัวแทนบุคลากรด้านจิตเวชนัดถกรองปลัด สธ.เรื่องปรับโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังคน 17 ม.ค.นี้ เผยในส่วนของพยาบาลจะขอให้มีโครงสร้างสายงานจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชน ส่วน รพศ./รพท. ขอปรับกรอบอัตรากำลังขั้นต่ำ 10-12 คน

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 นางผ่องพรรณ ธีระวัฒนศักดิ์ ประธานชมรมพยาบาลจิตเวชและยาเสพติดสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า คณะทำงานปรับปรุงกรอบอัตรากำลังบุคลากรในกลุ่มงานจิตเวชเตรียมเข้าประชุมร่วมกับ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ด้านบริหาร) ในช่วงบ่ายของวันที่ 17 ม.ค.2561 นี้ เพื่อนำเสนอโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังที่เหมาะสมสำหรับบุคลากรทุกวิชาชีพในกลุ่มงานจิตเวช ซึ่งทางบุคลากรด้านจิตเวชก็หวังว่าหากผู้บริหารเห็นชอบ ก็จะได้เสนอต่อ อ.ก.พ.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุขเพื่อนำโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังใหม่ไปประกาศใช้ในระดับประเทศต่อไป

นางผ่องพรรณ กล่าวว่า บุคลากรด้านจิตเวชมีหลายวิชาชีพ ทั้งจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวชและยาเสพติด นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ แต่ที่มีปัญหาขาดแคลนมากที่สุดคือพยาบาล ดังนั้นจะขอยกสถานการณ์ของพยาบาลจิตเวชในขณะนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นภาพปัญหา ปัจจุบันกรอบอัตรากำลังที่กระทรวงสาธารณสุขนำมาใช้ กำหนดให้มีพยาบาลจิตเวชในโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) แห่งละ 2-3 คน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะทำงานไหว

นางผ่องพรรณ ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดเล็กๆ อย่างพิจิตร มีผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องดูแลต่อเนื่องกว่า 7,000 คน แต่ละปีต้องให้บริการผู้ป่วยไป 15,000 ครั้ง ยังไม่รวมงานส่งเสริมป้องกันที่ต้องเข้าไปช่วยในระดับปฐมภูมิ ตลอดจนงานฟื้นฟูคนไข้ที่ถูกชี้ว่าเป็นผู้พิการอีก ขณะเดียวกัน ตามกฎหมายแล้วพยาบาลจิตเวชยังต้องทำหน้าที่ร่วมกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมคุมประพฤติ ศาลเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเห็นว่ามีภาระงานที่เยอะมาก เป็นไปไม่ได้ที่จะทำงานด้วยพยาบาลจิตเวชเพียง 2-3 คน

ขณะเดียวกัน ในส่วนของพยาบาลจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ก็ไม่มีโครงสร้างกลุ่มงานที่ชัดเจน พยาบาลจิตเวชถูกเอาไปแปะไว้กับกลุ่มการพยาบาลบ้าง กลุ่มเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชนบ้าง เหมือนไม่มีบ้านอยู่ ต้องไปอาศัยอยู่บ้านคนอื่น

“การไปอยู่บ้านคนอื่น ถ้าเขาเห็นว่างานเราไม่สำคัญเขาก็จะถอยงานเราไปก่อน เวลามีนโยบายใหม่ๆ มาต้องเทคนไปทำเรื่องนั้นก่อน แต่พยาบาลจิตเวชก็ยังต้องรับผิดชอบงานในภารกิจตัวเองด้วย และการไปอยู่กับโครงสร้างอื่นๆ ทำให้ไม่มีอิสระในการคิดการตัดสินใจตามความเชี่ยวชาญ จะติดขัดตรงโน้นตรงนี้ ประสิทธิภาพก็ไม่เกิดอย่างที่ควรจะเป็น แล้วผู้บริหารบางโรงพยาบาลก็ไม่ทราบว่าคิดอย่างไร พอเห็นว่ากรอบอัตรากำลังมี 2-3 คน ถ้ามีคนเกินมาเช่น มี 4 ก็ให้จับฉลากย้ายออก มันก็เลยโกลาหลขึ้นมา” นางผ่องพรรณ กล่าว

นางผ่องพรรณ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่สะสมเหล่านี้ ทำให้ตั้งแต่ปี 2559 แทบจะหาพยาบาลไปเรียนเฉพาะทางด้านจิตเวชและยาเสพติดไม่ได้เลยเพราะน้องๆ มองว่าไม่มีความชัดเจน ไม่มีความก้าวหน้าในอาชีพ ขณะที่พยาบาลที่มีอยู่ก็มี Turn Over สูง เฉพาะเขต 3 ก็มีถึง 20-30% ต่อปี

นางผ่องพรรณ กล่าวว่า จากสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ากรอบอัตรากำลังขณะนี้มีปัญหาขึ้นมาแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา นพ.โสภณ เมฆธน อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็ได้รับทราบและให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาปรับปรุงโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังแล้ว โดยให้ทำให้เสร็จก่อนที่ท่านจะเกษียณ แต่ทางฝ่ายบุคลากรด้านจิตเวชก็ทำไม่ทันเพราะมีหลายวิชาชีพประกอบกันจึงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง และเมื่อมีการเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ ก็ได้พยายามเสนอเรื่องขึ้นไปอีกแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งชมรมจิตแพทย์รู้สึกเห็นใจที่ยืดเยื้อมานานและเห็นว่าจะเกิดปัญหาในอนาคต จึงช่วยกระจายข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียจนเกิดเป็นข่าวในขณะนี้

“คณะทำงานเราตั้งขึ้นตั้งแต่เดือน ส.ค. 2560 โดยมี นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาเป็นหัวหน้า เราประชุมกันหลายครั้งจนตอนนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่าโครงสร้างกลุ่มงานจิตเวชในส่วนภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วย รพศ. รพท. และ รพช. ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ สภาพปัญหาและการทำงานตามเป็นจริงควรเป็นอย่างไร และทาง นพ.ธานินทร์ ก็วางกรอบไว้ว่าควรทำให้เสร็จและนำเสนอ อ.ก.พ.ภายในเดือน มี.ค. 2561 นี้” นางผ่องพรรณ กล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่จะนำเสนอเพื่อปรับปรุงโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังมีสาระสำคัญคือ ขอให้มีโครงสร้างของกลุ่มงานจิตเวชใน รพช. และเมื่อมีโครงสร้างแล้วจะได้นำเสนอกรอบอัตรากำลังในภายหลัง ขณะที่ในส่วนของกรอบอัตรากำลังใน รพศ. และ รพท. ก็ได้ ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล มาช่วยเป็นที่ปรึกษาคำนวณตาม FTE ว่าโรงพยาบาลในแต่ละระดับควรมีองค์ประกอบของวิชาชีพด้านจิตเวชเท่าใด ซึ่งจากการคำนวณ FTE แล้ว ในส่วนของ รพศ.ควรมีกรอบขั้นต่ำของพยาบาลจิตเวชและยาเสพติดอยู่ที่ 12 คน ขั้นสูง 17 คน ขณะที่ รพท.ควรมีกรอบขั้นต่ำ 10 คน และขั้นสูง 16 คน ส่วนวิชาชีพอื่นๆ ก็มีการคำนวณไว้หมดแล้วเช่นกัน

“ยืนยันว่าเรามีข้อมูลพร้อมนำเสนอ เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่มีโอกาสได้นำเสนอให้ผู้ใหญ่รับทราบเพราะท่านอาจจะเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ แต่การประชุมในวันที่17 ม.ค. 2561 นี้ ทางท่านรองปลัดก็ได้สื่อสารกับเราแล้วว่าเป็นการคุยกันเพื่อหาทางออกและจะรีบแก้ไขปัญหาให้ เราก็หวังว่าจะสามารถเสนอ อ.ก.พ.ได้ เพราะตามแผนเราก็วางไว้ว่าภายในเดือน มี.ค. หลังจากนั้นจะได้เอามาใช้ในภาพรวมระดับประเทศต่อไป” นางผ่องพรรณ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ้อ สธ.ไม่สนใจงานจิตเวช สั่งลดบุคลากรใน รพ. ทั้งที่งานล้นมือ โอดถอดใจ-ไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว

เพจจิตแพทย์วอน สธ.เห็นใจพยาบาลจิตเวช ชี้ไม่ก้าวหน้าวิชาชีพยังทำใจได้ แต่อย่าลดกำลังคน

รองปลัด สธ.เผยตั้งคณะทำงานทบทวนกรอบกำลังคนจิตเวชแล้ว

หารืองานจิตเวช รพ.สป.สธ.ได้ 3 ข้อสรุป ‘รวมงานยาเสพติด เสนออัตรากำลังที่เหมาะสมต่อ อ.ก.พ.สป.’