ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมายเหตุ : ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้สัมภาษณ์ ท่าน สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) เกี่ยวกับนโยบายสาธารณสุขในประเด็นต่างๆ ทั้งในเรื่องของการดูแลและสนับสนุนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขทุกสายงาน สายวิชาชีพ แก้ปัญหาเงินตกเบิก   การส่งเสริมสุขภาพบุคลากร และประชาชน รวมทั้งนโยบายลดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล ลดการรอคิว ซึ่งตั้งเป้าเห็นผลงานภายใน 1 ปี

 

สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ประเด็นบุคลากรสาธารณสุข เป็นประเด็นสำคัญ อย่างล่าสุดจากการลงพื้นที่ มีน้องๆมาบอกผมว่า มีแพทย์อินเทิร์น หรือแพทย์ที่จบมาใช้ทุน ไม่ได้รับค่าตอบแทนมา 8-9 เดือนแล้ว ต้องไปตกเบิก ซึ่งผมต้องไปสอบถามก่อนว่าเป็นเพราะอะไร เพราะหากเขาไม่มีหลักประกัน เงินค่าตอบแทนตกเบิกยาวแบบนี้ก็เป็นปัญหามาก โดยต้องกลับมาดูในระบบว่า เกิดขึ้นจากอะไร

นอกจากนี้ ต้องหารือถึงประเด็นเกณฑ์การควบคุมในประเด็นอัตรากำลังของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป อย่างเกณฑ์การประเมินกำลังคนในกระทรวงสาธารณสุข หรือ FTE บางเนื้องานอาจต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่ อย่างที่ไปประชุมก็ทราบว่า ทุกคนอยากได้อัตรากำลังเพิ่ม แต่ก็ติดที่เกณฑ์ตรงนี้ ทำให้กระทรวงไม่สามารถบรรจุได้ตามเนื้องานที่ต้องการได้

“ผมมีแนวคิดว่า อาจต้องใช้ในบางพื้นที่ อย่างพื้นที่เขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ยกตัวอย่าง จ.ชลบุรี มีประชากรในพื้นที่ประมาณ 1 ล้านกว่าคน แต่ยังมีประชากรจากพื้นที่อื่นๆ เข้ามาทำงานในจ.ชลบุรีอีกล้านคน บุคลากรก็ต้องทำงานเพิ่มแต่คนเท่าเดิม ผมจึงคิดว่า อาจมีการปรับเกณฑ์การคำนวณเรื่องภาระงาน หรือ FTE เฉพาะพื้นที่ EEC ได้หรือไม่ เนื่องจากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) ได้ให้อำนาจของคณะกรรมการนโยบายอีอีซีมีอำนาจในการยกเว้น หรือทำลักษณะดังกล่าว หากทำได้ก็จะช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากรสาธารณสุขได้ จริงๆ บุคลากรมีหลายกลุ่ม ทั้งลูกจ้างชั่วคราวก็อีกเรื่อง ซึ่งผมได้หารือกับท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขในการแก้ไขเรื่องนี้”

อย่างพยาบาลที่หลายคนประสบปัญหาเจอการสื่อสารที่ไม่ค่อยถูกหู พูดจาอาจไม่ดีมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเพราะงานโหลด ภาระงานมาก ความอดทนก็น้อยลง แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นนิสัยส่วนตัว ซึ่งการปรับเกณฑ์ FTE ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งในการช่วยเรื่องขวัญและกำลังใจ เพราะหากดีก็จะส่งผลต่อการบริการแก่ประชาชนดีขึ้นด้วย ที่สำคัญจะลดปัญหาผลกระทบจากการรับบริการทางการแพทย์ให้น้อยที่สุดลงได้ ซึ่งหากเกิดขึ้น ตนได้หารือในไลน์กลุ่มผู้บริหารว่า เราเข้าใจว่า ไม่มีบุคลากรคนไหนอยากให้เกิดการสูญเสีย แต่เมื่อเกิดขึ้น ผู้ที่สูญเสียจะรู้สึกแย่กว่าเราอีก ดังนั้น เราจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือ เยียวยาถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหนก็ตาม จริงๆ ในเรื่องการเพิ่มบุคลากร การสร้างขวัญกำลังใจ ก็เป็นส่วนหนึ่งจะช่วยตรงนี้ ซึ่งต้องทำทั้งระบบ เพราะกระทรวงสาธารณสุขยากตรงไม่สามารถทำแค่ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

“ถามผมว่ากดดันหรือไม่ จริงๆผมไม่ได้กดดันว่า ต้องเป็นพระเอกมาแก้ปัญหาได้ภายใน 1-2 ปี เพราะผมอยู่กับความเป็นจริง แต่อย่างน้อยก็ได้เริ่มต้นในการแก้ปัญหา เพื่อให้คนที่ต่อจากเราได้เข้ามาแก้ปัญหาต่อเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ กระทรวงนี้ดีกว่ากระทรวงอื่นเยอะในแง่ของบุคลากร เพราะปัญหาได้ถูกแก้ไขมาทีละประเด็น ในแต่ละรุ่นแต่ละยุค เพียงแต่ว่ากระทรวงนี้อยู่กับเรื่องแบบนี้ การจะแก้ปัญหาให้หมดสิ้นในเวลารวดเร็วคงทำไม่ได้ ก็เหมือนกับการที่จะประกาศสงครามโรคเบาหวานกับความดัน เป็นเรื่องยากมาก และไม่มีใครจะทำสำเร็จได้ทันทีทันใด ดังนั้น ตนจึงไม่ได้กดดัน เพียงแต่คิดว่า เราจะเข้ามาทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และกำหนดตัวชี้วัดให้ชัด โฟกัสไปว่าจะทำอะไร”

ไม่เพียงเท่านี้ ในส่วนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เราให้ความสำคัญเทียบเท่าบุคลากรส่วนอื่นๆ โดยอสม.เป็นจิตอาสา เพียงแต่เราให้กำลังใจเขาด้วยการให้ค่าตอบแทน หรือที่เรียกว่า ค่าป่วยการ ซึ่งเหมือนเป็นกำลังใจ เนื่องจากทุกคนก็มีอาชีพหลักอยู่แล้ว เพียงแต่ตรงนี้เป็นจิตอาสาด้านสุขภาพ เมื่อมาทำเขาก็มีความสุข อย่างเวลาเราไปลงพื้นที่ก็จะเห็นว่า อสม.เขามีความสุขในการทำงานจุดนี้ ซึ่งการให้กำลังใจเขามีหลายวิธี อย่างเรื่องค่าป่วยการ ก็ได้เสนอไปแล้วว่าต้องมีหลักประกันต่างๆ ทั้งเรื่องกองทุน ฌาปนกิจสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต จ่ายคนละ 1 บาท เมื่อเสียชีวิตเงินก็ได้ให้กับลูกหลาน นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเรื่องกองทุนบำนาญ โดยรัฐจ่ายและอสม.ร่วมจ่าย ซึ่งลักษณะจะเป็นอย่างไรต้องมีการหารือประเด็นนี้อย่างละเอียดก่อน เพราะยังไม่ฟันธงว่าจะมีลักษณะอย่างไร

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.  กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องอสม. ทุกพรรคให้ความสำคัญกับ อสม.มาก มีการหาเสียงกันมาทุกพรรค ดังนั้น เมื่อรัฐบาลมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ อันนี้ก็เป็นหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ อสม.ด้วย