ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ไทยเดินหน้า ต่อยอดวัคซีนเอดส์ 2 โครงการ อาร์วี 305-306 หลังปี 2552 ประสบความสำเร็จลดการติดเชื้อได้ 31% คาดอีก 3 ปี สรุปผล

ความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนเอดส์ในประเทศไทย พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม รักษาการหัวหน้าศูนย์ทดสอบวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคเอดส์เป็นปัญหาของโลกซึ่งที่ผ่านมาได้มีความพยายามทำการวิจัยและพัฒนาวัคซีนขึ้นมาเพื่อป้องกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยเป็นประเทศไทยหนึ่งที่ได้ร่วมพัฒนาวัคซีนขึ้นมา เพื่อลดการติดเอดส์รายใหม่ และได้เริ่มมีการทดสอบวัคซีนเอดส์ทดลองในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน ที่เป็นการศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 เพื่อดูความปลอดภัย ระยะที่ 2 เพื่อหาระดับภูมิต้านทาน

ส่วนระยะที่ 3 เพื่อหาประสิทธิผล รวมทั้งหมด 11 โครงการ โดยในจำนวนโครงการดังกล่าวเป็นการกระตุ้นเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในน้ำเหลือง และภูมิคุ้มกันแบบพึ่งพาเซลล์ที่ใช้วัคซีนปูพื้นอัลแว็กซ์-เอชไอวี (วีซีพี 1521) และการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนเอดส์แว็กซ์บี/อี หรือโครงการอาร์วี 144 ซึ่งได้ทำการวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 3 เมื่อปี 2546 จำนวน 16,000 คน ในจังหวัดชลบุรี และระยอง จากนั้นได้มีการสรุปผลการทดลองในปลายปี 2552 ว่า ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอดส์ได้ 31% แต่ไม่มีผลการลดปริมาณไวรัสในกระแสเลือด

อย่างไรก็ตาม จากการทดลองดังกล่าวในปีแรกของการรับวัคซีน สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้สูงถึง 60% จึงสันนิษฐานว่า วัคซีนอาจมีผลในระยะเวลาอันสั้น ด้วยผลดังกล่าวจึงนำมาสู่การพัฒนาต่อยอดเพื่อศึกษาวัคซีนเอดส์ดังกล่าวในระยะที่ 2 อีก 2 โครงการ คือ 1. โครงการอาร์วี 305 ที่เป็นการทดสอบในระยะที่ 2 เพิ่มเติมด้วยการฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำเพิ่มอีก 2 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 6 เดือน ในอาสาสมัครกลุ่มเดิมจากโครงการวัคซีนข้างต้นจำนวน 162 คน โดยเริ่มต้นในเดือน เม.ย. 2555 และจะมีการติดตามและสรุปผลในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยที่ผ่านมา ได้เริ่มฉีดวัคซีนกระตุ้นในอาสาสมัครแล้ว 4 คน

ส่วนโครงการที่ 2 อาร์วี 306 เป็นการทดสอบในระยะที่ 2 เพื่อประเมินความแตกต่างของการฉีดวัคซีนกระตุ้น 1 ปี หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนปูพื้น-กระตุ้นซ้ำของวัคซีนเอดส์เอดส์แว็กซ์ บี/อี เพียงอย่างเดียว หรืออัลแว็กซ์-เอชไอวี (วีซีพี 1521) เพียงอย่างเดียว หรือทั้ง 2 ชนิดร่วมกัน โดยโครงการนี้จะเป็นการศึกษาลักษณะการตอบสนองของภูมิคุ้มกันดั้งเดิม หรือภูมิคุ้มกันเฉพาะในสารคัดหลั่งทางปากมดลูก ทวารหนัก น้ำอสุจิ เนื่องจากวัคซีนปูพื้นและกระตุ้นนี้ให้ผลเบื้องต้นในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายในเลือดแต่ไม่ทราบว่าวัคซีนนี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในส่วนอื่นๆ ของร่างกายหรือไม่ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะทดลองในอาสาสมัครใหม่ที่ไม่มีความเสี่ยง 465 คน มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี และสรุปผล

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 พฤษภาคม 2555