ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า อาการคัดจมูก มีน้ำมูก เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุที่พบมากมักเกิดจากการเป็นหวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเกิดจากโรคภูมิแพ้ ซึ่งทั้งสองกรณีสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยยาคลอเฟนนิรามีน แต่หากเกิดจากกรณีเป็นภูมิแพ้ยาคลอเฟนนิรามีนก็จะออกฤทธิ์ได้โดยตรง คือสามารถลดน้ำมูกได้ แต่ไม่สามารถลดอาการคัดจมูกได้ ซึ่งหากการคัดจมูกเกิดจากอาการแพ้ยาคลอเฟนนิรามีนก็จะระงับการคัดจมูกได้ด้วย  

ในกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส หรือเป็นหวัด ยาคลอเฟนนิรามีน จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือทำให้น้ำมูกหยุดไหลในช่วงนั้น แต่เมื่อหยุดการใช้ยา เชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสยังมีอยู่ในร่างกาย อาการนี้ก็จะกลับมาใหม่  ซึ่งกรณีดังกล่าวต้องกลับไปดูถึงสาเหตุของการเกิดโรค เช่นถ้าน้ำมูกมีสีเหลืองเขียว หรือมีอาการเจ็บคอมากๆ อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย  อย่างไรก็ตามหากไม่ใช่เกิดจากภูมิแพ้แล้วมีน้ำมูก ควรปรึกษาแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยา

ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวอีกว่า สำหรับผลข้างเคียงของการใช้ยาคลอเฟนนิรามีนนั้นอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม ต้องระวังในกรณีที่จำเป็นต้องขับขี่รถยนต์ จักรยานยนต์ หรือทำงานกับเครื่องจักร เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้   อีกทั้งยาดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาการคอ ปาก แห้ง หรือตาแห้งร่วมด้วย  ซึ่งผู้ป่วยควรจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ ปัญหาอีกอย่างคือทำให้เกิดอาการปัสสาวะคั่ง หรือปัสสาวะยาก ต้องระมัดระวังมากๆ ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโต  หากดูรายละเอียดที่ฉลากยาจะระบุไว้ว่าห้ามใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคต่อมลูกหมากโต   และกลุ่มโรคต้อหิน ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแย่ลง ทั้งนี้หากผู้ใช้ยามีปัญหากับการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในทันที