ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายอุฬาร เกรียวสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กระเบื้องโอฬาร จำกัด ผู้ผลิตกระเบื้องภายใต้แบรนด์ "กระเบื้องตราลูกโลก" เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ได้ระงับการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ เนื่องจากพบว่าไม่ปลอดภัยนั้น ล่าสุดบริษัทได้ยื่นเรื่องกับคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ ให้ทบทวนการระงับใช้แร่ใยหินไครโซไทล์แล้ว โดยทางคณะกรรมาธิการฯได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีแล้วเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีกรณีศึกษาหรือข้อมูลที่แน่ชัดถึงผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุขเร่งศึกษาเรื่องดังกล่าว

โดยปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช ศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้บริษัทต้องการให้ภาครัฐทำการวิจัยเกี่ยวกับแร่ไครโซไทล์อย่างละเอียดก่อนออกประกาศห้ามใช้ เนื่องจากหากห้ามใช้จริง จะส่งผลกระทบต่อประชาชน ระดับล่าง ศาสนสถาน และโรงเลี้ยงสัตว์ ที่ต้องเปลี่ยนมาใช้กระเบื้องแบบใหม่กว่า 2,295,676 คนต่อปี อีกทั้งกระเบื้องที่ไม่มีส่วนผสมของแร่ใยหินจะมีความทนทานน้อยกว่า และมีอายุการใช้งานน้อยกว่าถึง 5 เท่า เนื่องจากมีส่วนผสมของกระดาษ เมื่อโดนน้ำจะไม่คืนตัว และมีราคาแพงกว่าประมาณ 30% ต่างจากกระเบื้องที่มีแร่ใยหินไครโซไทล์ที่สามารถใช้ได้นานกว่า 25 ปี เฉลี่ยราคาอยู่ที่ 30 บาท และเมื่อรวมกับค่าติดตั้งจะอยู่ที่ 200 บาท ต่อแผ่น เท่านั้น

สำหรับยอดขายในปี 2555 บริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 2,300 ล้านบาท เติบโต 10% จากปี 2554 ในช่วง 5 เดือนแรกยอดขายอยู่ที่ 1,100 ล้านบาท เติบโต 8% เป็นผลจากกลุ่มลูกค้าซ่อมแซมบ้านและกลุ่มลูกค้าที่หันกลับมาใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่มีแร่ใยหินไครโซไทล์มีเพิ่มขึ้น ประกอบกับบริษัทยังไม่มีการปรับขึ้นราคาขาย แม้ปัจจุบันราคาแร่ใยหินไครโซไทล์จะปรับขึ้น 10% รวมถึงปูนซีเมนต์ก็มีราคาสูงขึ้น ส่วนค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้น มีผลต่อต้นทุนค่าแรงของบริษัทเพียง 0.5% เนื่องจากใช้เครื่องจักรในการผลิตเป็นหลัก

นายพรกิจ เกรียวสกุล รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายโรงงาน ประจำสาขา บางพลี บริษัท กระเบื้องโอฬาร จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิต กระเบื้องหลังคา 5 แห่ง รวม 14 สายการผลิต ตั้งอยู่ที่สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี และนครราชสีมา กำลังการผลิตอยู่ที่ 250,000 แผ่นต่อวัน ซึ่งในปี 2554 บริษัทได้ลงทุนเพิ่มอีก 60 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสายการผลิตบอร์ด และไม้ฝาที่ราชบุรี จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากถึง 150% และจะเริ่ม เดินเครื่องผลิตได้ในสิ้นปี 2555 นี้--จบ--

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า 19 มิ.ย.55