ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

จากกรณีข่าวคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุ่มตรวจร่างกายนักเรียนในอ.บ้านค่าย จ.ระยอง 5 โรงเรียน ตามโครงการศึกษาผลกระทบจากการสัมผัสมลพิษต่อสุขภาพประชาชนในจังหวัดระยอง ผลพบนักเรียนมีสารโลหะหนักปนเปื้อนในเลือดหลายราย มากที่สุดที่โรงเรียนวัดปทุมาวาสจำนวน 34 รายนั้น

ในวันนี้ (28 สิงหาคม 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า การตรวจพบโลหะหนักในเลือดนักเรียนที่จังหวัดระยอง นับว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก ต้องเร่งดำเนินการป้องกันและลดผลกระทบดังกล่าว เพื่อให้พื้นที่จังหวัดระยองมีความปลอดภัย น่าอยู่ ได้มอบหมายให้นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ผู้ตรวจราชการที่ดูแลพื้นที่จังหวัดระยอง ติดตามแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และสั่งการให้สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์พัฒนาวิชาการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จังหวัดระยอง ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง ลงไปตรวจสอบ ให้คำแนะนำเพื่อการป้องกัน ในโรงเรียน ทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครองที่บ้าน โดยเฉพาะเรื่องน้ำดื่ม น้ำใช้ รวมทั้งภาชนะใส่อาหารที่อาจมีสารตะกั่ว และให้ติดตามดูแลสุขภาพของนักเรียนทั้งจังหวัดระยอง รายใดที่มีความผิดปกติรีบรักษาให้เป็นปกติ เนื่องจากฤทธิ์ของตะกั่วจะมีผลในการทำลายระบบประสาท สมอง เม็ดเลือด และกระดูก

นายวิทยากล่าวต่อว่า ได้รับรายงานจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยอง เรื่องผลการตรวจเลือดนักเรียนทั้งหมด 907 รายในโรงเรียน 22 แห่งที่อยู่ใน 4 อำเภอคือ บ้านค่าย บ้านฉาง ปลวกแดง และนิคมพัฒนา เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 พบว่ามีเด็ก 82 รายในโรงเรียน 15 แห่งที่มีค่าตะกั่วเกินค่ามาตรฐานคือ 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ในจำนวนนี้มีเด็กหญิง 2 รายที่มีค่าตะกั่วในเลือดสูงกว่าค่ามาตรฐานกว่า 4 เท่าตัว แต่ขณะนี้ระดับลดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ เก็บตัวอย่างน้ำคลอง น้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน และตรวจคุณภาพอากาศเพื่อดูการปนเปื้อนของตะกั่ว จะทราบผลในเดือนกันยายนนี้ และให้ตรวจเลือดเด็กนักเรียนที่พบค่าตะกั่วเกินซ้ำอีก ในเดือนตุลาคม 2555 นี้

ด้าน นายแพทย์กฤษณ์ ปาลสุทธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยอง กล่าวว่า เด็ก 2 รายที่มีค่าตะกั่วในเลือดสูงกว่าค่ามาตรฐานมาก รายแรกสูง 48.33 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ได้ติดตามตรวจอีก 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อ 18 พฤษภาคม 2555 ลดลงเหลือ 17.89 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร โดยพบมีเม็ดเลือดแดงผิดปกติเล็กน้อย ส่วนรายที่ 2 พบค่าตะกั่ว 48.98 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ล่าสุดลดเหลือ 19.17 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ไม่มีภาวะซีด การทำงานของไตปกติ ระดับไอคิวปกติ และกระดูกปกติ ซึ่งระดับตะกั่วในเลือดดังกล่าวร่างกายจะสามารถกำจัดออกได้เองทางปัสสาวะ

สำหรับนักเรียนที่ตรวจพบตะกั่วเกินค่ามาตรฐานทั้งหมด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองไม่ได้นิ่งนอนใจและไม่ได้มีการปกปิดข้อมูลแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีอันตรายต่อสุขภาพ ต้องรีบแก้ไขเป็นการด่วน โดยได้ส่งทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้ที่โรงเรียน และค้นหาสาเหตุของการปนเปื้อนสารตะกั่วครั้งนี้ว่ามาจากแหล่งใด ซึ่งผลการตรวจยังไม่สามารถระบุสาเหตุหรือพื้นที่ต้นเหตุได้ เพราะยังไม่มีข้อมูลชี้ชัด สาเหตุน่าจะเกิดกระจัดกระจาย โดยได้ทำการตรวจสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ภาชนะใส่อาหารในโรงครัว น้ำดื่ม ตรวจเลือดครู ผู้ปกครอง และตรวจสิ่งแวดล้อมที่บ้าน ไม่พบค่าตะกั่วเกินมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ได้ให้คำแนะนำทั้งผู้บริหารโรงเรียนทุกแห่งในจังหวัดระยอง รวมทั้งผู้ปกครองเด็ก ให้หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะที่มีความเสี่ยงอาจมีสารตะกั่วปนเปื้อนได้ เช่น เครื่องกรองน้ำที่มีรอยบัดกรี เตาปิ้งใส้กรอกที่เป็นเหล็ก หม้อหุงข้าวมือสองที่มีรอยอุดรูรั่ว เป็นต้นทั้งนี้ผลการตรวจนักเรียนที่มีค่าตะกั่วเกินมาตรฐาน 82 รายล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 พบยังเหลือนักเรียนที่มีค่าตะกั่วเกินมาตรฐาน 40 ราย ไม่มีนักเรียนที่มีค่าตะกั่วสูงเกินมาตรฐานระดับมาก มีเกินมาตรฐานเล็กน้อย 34 ราย และระดับปานกลาง 6 ราย

ทั้งนี้ ได้แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆเพื่อขับตะกั่วออกจากร่างกายและได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่บ้านของนักเรียนกลุ่มนี้เพิ่มอีก พบว่าบางรายผู้ปกครองได้ทาสีเขาควายที่บ้าน บางรายยังนำหม้อเก่ามาปะอุดรอยรั่วใช้ต่อ ซึ่งอาจมีตะกั่วปนได้ ได้แนะนำให้เลิกใช้เพื่อความปลอดภัย