ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

โรงพยาบาลชายแดนจ่ายค่าเช่าสัญญาณดาวเทียมเพื่อบริการทางการแพทย์ ตกเดือนละ 9,000 บาท "วิทยา" เตรียมเสนอครม.ขอเช่าสัญญาณราคาถูกเดือนละ 1,500 บาท สำหรับพื้นที่จำเป็นกว่า 100 จุดใน 14 จังหวัด

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสธ. เพื่อชี้แจงแผนแม่บทการแก้ปัญหาและพัฒนางานสาธารณสุขชายแดนฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555-2559 ที่โรงแรมริชมอนด์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนแม่บทการแก้ปัญหาและพัฒนางานสาธารณสุขชายแดน ที่ สธ.จัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบการทำงานของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนาสุขภาพประชาชนที่อยู่ตามพื้นที่ชายแดนใน 31 จังหวัดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมาการบริการสาธารณสุขบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีความลำบาก โดยเฉพาะเรื่องบุคลากร เครื่องมือแพทย์ รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายผุ้ป่วยจากถิ่นทุรกันดารไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นไปด้วยความลำบาก

นายวิทยา กล่าวอีกว่า สธ.จึงมีนโยบายในการใช้เทคโนโลยีการแทพย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน (Telemedicine) โดยแนวทางหนึ่งนอกจากการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านทางไกลแล้ว ในกรณีพื้นที่ห่างไกลมากๆ ที่ระบบอินเทอร์เน็ตปกติอาจใช้ไม่ได้จำเป็นต้องใช้ระบบขั้นสูง คือการใช้เคทโนโลยีสื่อสารผ่านดาวเทียม หรือการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านทางช่องสัญญาดาวเทียม ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อแบบตลอดเวลาโดยปัจจุบันโรงพยาบาลบางแห่งมีการนำมาใช้แล้ว แต่ปัญหาคือต้องจ่ายค่าเช่าการใช้ระบบตกเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งถือว่าแพงมากสำหรับโรงพยาบาลรัฐที่มีงบประมาณจำกัด

"ผมจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้าถึงความเป็นไปได้ว่าจะมีแนวทางอย่างไรในการขอเช่าสัญญาณในราคาถูกลง เหลือเดือนละ 1,500-2,000 บาท ขณะนี้ได้รวบรวมพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้มีทั้งหมด 100 กว่าจะดใน 14 จังหวัด ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และกาญจนบุรี" นายวิทยา กล่าว

นายวิทยา กล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพการบริการตามนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท ที่จะเริ่มเรียกเก็บในวันที่ 1 กันยายนนี้ สำหรับการร่วมจ่ายครั้งนี้ไม่เพียงจะได้รับบริการที่ดี สะดวกสบายขึ้น ยังให้สิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นการรับบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการข้าราชการ

อนึ่ง 31 จังหวัดชายแดนประเทศไทย ติดกับพม่า 10 จังหวัด กัมพูชา 7 จังหวัด ลาว 12 จังหวัด และมาเลเซีย 4 จังหวัด มีต่างด้าวข้ามาใช้บริการตรวจรักษาพยาบาลในฝั่งไทยคิดเป็นร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยไทย

ที่มา: นสพ.คมชัดลึกวันที่ 30 ส.ค. 2555