ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีหนี้เสียประมาณ 4,000 ล้านบาท จากการปล่อยกู้และการค้างชำระเงินสมทบจากผู้ประกอบการที่ค้างนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน สปส.สะสมมาเป็นระยะเวลาหลายปี จะเรียกผู้บริหารที่เกี่ยวข้องมาสอบถามในเรื่องดังกล่าวว่าจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสปส. กล่าวยอมรับว่า มียอดค้างส่งเงินสมทบจากสถานประกอบการกว่า 4,000 ล้านบาท มีทั้งที่เป็นสถานประกอบการที่ยังดำเนินกิจการอยู่ และสถานประกอบการที่ปิดกิจการไปแล้ว ซึ่งในส่วนสถานประกอบการที่ปิดกิจการไปแล้วมีการยื่นฟ้องล้มละลายเพื่อยึกทรัพย์สินขายทอดตลาด ส่วนสถานประกอบการที่ยังเปิดดำเนินการอยู่มีการจ้างพนักงานเร่งรัดหนี้สินจำนวน 178 คน เพื่อติดตามทวงหนี้

ขณะนี้การแก้ระเบียบการจ่ายเงินค่าปรับของผู้ประกอบการที่ค้างชำระ จากเดิมที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยจำนวนร้อยละ 2 ต่อเดือน ให้เหลือแค่ค่าปรับที่ไม่เกินเงินต้นที่ค้างชำระ ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเพื่อประกาศบังคับใช้ต่อไป การแก้ระเบียบดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการจ่ายเงินค่าปรับน้อยลง และป้องกันเป็นหนี้สูญ เพราะเป็นอัตราค่าปรับที่นายจ้างยอมรับได้

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ด สปส.กล่าวว่า ตามระเบียบข้อกฎหมาย สปส.ไม่สามารถจะปล่อยกู้ได้โดยตรง ซึ่งเข้าใจว่าหนี้เสียดังกล่าวเป็นการค้างชำระของผู้ประกอบการที่ต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน สปส. ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ สปส.ที่จะตั้งคณะกรรมการติดตามทวงหนี้ เพื่อไม่ให้เงินจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้สูญ

สำหรับข้อมูลตัวเลขค้างชำระของนายจ้างพบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2538-มีนาคม 2555 มีนายจ้างที่ค้างส่งเงินสมทบจำนวน 34,011 ราย คิดเป็นเงิน 4,018 ล้านบาท และในจำนวนดังกล่าวไม่สามารถติดตามทวงหนี้ได้ เนื่องจากนายจ้างปิดกิจการหรือล้มละลายไปแล้ว จำนวน 940 ราย ในวงเงินกว่า 53.82 ล้านบาท

ขณะนี้ สปส.อยู่ระหว่างการฟ้องล้มละลายสถานประกอบการอีก 1 ราย ในวงเงินกว่า 3 ล้านบาท รวมทั้งอยู่ระหว่างยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์บริษัทที่ถูกฟ้องล้มละลายอีก 10 แห่ง เพื่อนำมาใช้หนี้ สปส.ส่งผลให้ ณ ปัจจุบันมีนายจ้างค้างส่งเงินสมทบกว่า 33,071 ราย ในวงเงินกว่า 4,047 ล้านบาท ที่จะต้องเร่งติดตามทวงหนี้ต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 10 สิงหาคม 2555