ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ไม่นานผ่านมา "เผดิมชัย สะสมทรัพย์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงถึงผลงานครบรอบ 1 ปีของกระทรวงแรงงาน ว่า 1 ปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ทำตามนโยบายของรัฐบาล โดยนโยบายเร่งด่วนของทางกระทรวงคือการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เบื้องต้นมีการปรับขึ้นใน 7 จังหวัดทั่วประเทศไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนผ่านมา และกำลังจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ครั้งที่ 2 ในอีก 70 จังหวัด ที่เหลือ ในวันที่ 1 มกราคม 2556

ผ่านมา กระทรวงแรงงานจัดหารือรับฟังความคิดเห็นกับผู้ประกอบการหลายครั้ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อกลุ่ม ผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยังได้ผลักดัน และสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการไม่ให้มีการเลิกจ้างคนงานใน 7 จังหวัดนำร่องที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั้งยังตั้งศูนย์โปร่งใสกระทรวงแรงงาน เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์ และให้คำปรึกษากรณีค่าจ้าง 300 บาท

"ต้นเดือนกันยายนจะประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางเพื่อเสนอเรื่องให้ที่ประชุมออกประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพื่อใช้บังคับในพื้นที่ 70 จังหวัด ในวันที่ 1 มกราคม 2556 จากนั้นกลางเดือนกันยายนจะเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบและลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้การขึ้นค่าจ้าง 300 บาท นายจ้างร้อยละ 83 ยอมรับว่ามีผลกระทบ แต่นายจ้างร้อยละ 99.4 เห็นว่าสามารถปรับตัวได้"

นอกจากนั้น "เผดิมชัย" ยังกล่าวถึงเรื่องการดูแลแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งทางกระทรวงได้ดำเนินการลดค่าใช้จ่ายของแรงงานไทยในการไปทำงานต่างประเทศ โดยผ่านมากระทรวงแรงงานลดค่าใช้จ่ายแรงงานภาคการเกษตรที่ เดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล จากเดิมต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 300,000-400,000 บาทต่อคน ลดลงเป็น 70,000 บาทต่อคน และมีแนวคิดจะลดค่าใช้จ่ายแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศอื่น ๆ ต่อไป

"กระทรวงแรงงานยังได้มีข้อตกลงในหลักการกับธนาคารกรุงเทพ, กรุงไทย, ออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำเงินประกันสังคม 5,000 ล้านบาท ไปฝากไว้กับทั้ง 4 ธนาคาร เพื่อปล่อยสินเชื่อให้แรงงานกู้เป็นค่าใช้จ่ายเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่จะให้ทำสัญญาขอสินเชื่อ และหักค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือนตามสัญญาที่กู้ เบื้องต้นจะปล่อยกู้แห่งละ 10 ล้านบาทไปก่อน โดยคิดดอกเบี้ย 8-10% ต่อปี จนกว่าจะครบ 5,000 ล้านบาท"

ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และผู้ใช้แรงงานในการลดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตลอดปี 2555 รวมทั้งหมดร้อยละ 3 ในครึ่งปีแรกให้ลดลงเหลือร้อยละ 2 และครึ่งปีหลังลดลงร้อยละ 1 นั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก

รวมถึงเรื่องการดูแลแรงงานนอกระบบ ก็ได้มีการเร่งสร้างความเข้าใจกับผู้ใช้แรงงาน จนถึงขณะนี้สามารถดึงเข้าสู่ระบบประกันสังคมเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้จำนวน 1,006,859 คน จากเดิมที่มีการสำรวจในเดือนพฤษภาคมมีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จำนวน 170,733 คน เพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวนกว่า 800,000 คน

โดยในปี 2556 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะเสนอให้มีการแก้ไขกฎกระทรวงแรงงาน เรื่องค่ารักษาพยาบาลที่ลูกจ้างจะได้รับจากกองทุนเงินทดแทนกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยจากการทำงาน จากเดิมที่กำหนดวงเงินอัตราสูงสุดจำนวน 300,000 บาท ปรับเป็นไม่เกิน 1,000,000 บาท

"สำหรับผลตอบแทนการลงทุนของกองทุนประกันสังคมในปี 2555 ครึ่งปีแรกสามารถทำกำไรได้ 21,139 ล้านบาท ทำให้ในขณะนี้กองทุนมีเงินสมทบสะสม 920,809 ล้านบาท โดยมียอดผู้ประกันตนทั้งหมด 11 ล้านคน"

ส่วนเรื่องการบูรณาการด้านการใช้สิทธิการรักษาในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน "เผดิมชัย" บอกว่า ตอนนี้มีความเท่าเทียมกันใน 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ได้แก่ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรมบัญชีกลาง, กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม (สปส.)

"ภายใต้แนวคิด เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน โดยพยายามลดค่ายา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีราคาถูกลง รวมทั้ง สปส.ยังเพิ่มระดับการรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ไต, หัวใจ และต้องรักษาต่อเนื่อง ตามระดับความรุนแรง คือเพิ่มขึ้นระดับละ 15,000 บาท"

"บางคนบอกว่ากระทรวงแรงงานสอบตก ผมบอกว่าใช่ครับ ตราบใดที่ยังมีพี่น้องตกงานอยู่ แต่เราก็ทำงานอยู่ตลอดเวลา ต้องรับผิดชอบชีวิตผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบ 38 ล้านคน แต่มีตัวเลขว่างงานเพียงร้อยละ 0.4 เท่านั้น การทำงานปีนี้ ผมจึงให้คะแนนตัวเองสอบผ่าน 5.5 เต็ม 10 คะแนน  ส่วนปีหน้าจะขอเป็นมวยบุกเข้าถึงผู้ใช้แรงงาน อาจจะต้องมีทีวีแรงงาน 1 ช่อง เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานรู้ข้อมูลข่าวสารและสิทธิประโยชน์ จะได้ไม่ถูกหลอก"

ซึ่งถือเป็นการเอกซเรย์ความคิดของเจ้ากระทรวงแรงงานในช่วง 1 ปีที่น่าสนใจไม่น้อย ?

ที่มา: นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 - 5 ก.ย. 2555--