ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ใครจะว่ายังไงก็ตาม สำหรับผู้เขียนแล้ว เรื่อง "โกหกสีขาว" ที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีในกรณีเป้าหมายการส่งออกก็ยังน่าเอ็นดูเพราะการที่ใครสักคนจะออกมายอมรับว่าเป้าหมายการส่งออกที่แถลงไป 15% อาจจะไม่ถึงเป้าหมายแต่ก็จำเป็นต้องยืนยันแบบนั้นในทางจิตวิทยาจึงกลายเป็นการโกหกสีขาว

แน่นอนว่า การออกมาพูดแบบนั้นต้องอาศัยความกล้าหาญเล็กๆ ในใจ เพราะในฐานะรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงการคลังการออกมาพูดแบบนั้น กระทบต่อความน่าเชื่อถือแม้ว่าจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม แต่ถ้ายอมรับอย่างตรงไปตรงมาเลยว่า การออกมาประกาศเป้าหมายส่งออกที่สูงขนาดนั้นเป็นไปไม่ได้หรือทำไม่ได้ เพราะอะไรน่าจะดีกว่านี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เขียนแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่เห็นว่า น่าเอ็นดู แต่ไม่เชื่อว่าเป็นความเดียงสาทางการเมือง เพราะแว่วๆ มาจากกระทรวงสาธารณสุข ว่า รองนายกรัฐมนตรีท่านนี้มีความพยายามที่จะขจัดอุปสรรคของการส่งออกในหลายประการ จนบางครั้งอาจจะมองข้ามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกมากด้วยซ้ำ

กรณีที่ว่านี้ คือ การเจรจาเอฟทีเอไทยอียูที่แม้จะมีความพยายามจัดทำกรอบการเจรจามานาน แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย เนื่องจากข้อเจรจาในหลายประเด็นกระทบต่อการจัดระบบยาภายในประเทศ

โดยเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2555 ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ ได้หารือเกี่ยวกับข้อตกลงในการเจรจา โดยเฉพาะข้อเรียกร้องการเจรจาของทางสหภาพยุโรปที่นำเสนอมา ก่อนนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

การหารือมีประเด็นที่มีความอ่อนไหว คือ 1.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ 2.ทรัพย์สินทางปัญญา 3.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 4.นโยบายการแข่งขันทางการและค้า และ 5.การเปิดตลาดสินค้าบริการ

ในส่วนของประเด็นอ่อนไหวด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ครอบคลุมถึงยาและเวชภัณฑ์ นั้น มีเสียงคัดค้านและห่วงใยจากกระทรวงสาธารณสุขในหลายประเด็น คือ 1.การขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างน้อย 5 ปี 2.การคุ้มครองข้อมูลในรูปแบบการได้รับสิทธิพิเศษเพียงผู้เดียวเหนือข้อมูลที่ยื่นทะเบียนยาครั้งแรกและครั้งต่อไป อย่างน้อย 5 ปี (Data exclusivity) และ 3.การจับยึด อายัด หรือทำลายสินค้ายาและเวชภัณฑ์ ที่สงสัยว่าอาจจะละเมิดสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นๆ ณ จุดผ่านแดน เพราะทั้ง 3 ข้อเรียกร้อง อาจส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ของรัฐ

ข้อห่วงใยของกระทรวงสาธารณสุขต่อผลกระทบเกิดขึ้นกับเรื่องยาและเวชภัณฑ์ ทำให้การเจรจาเพื่อกำหนดกรอบเอฟทีเอไทยอียูยังเดินไปข้างหน้าไม่ได้ ซึ่งในมุมของกระทรวงพาณิชย์ เห็นว่าหากไทยไม่ลงนามข้อตกลงร่วมอาจจะกระทบต่อการส่งออก เพราะหลายประเทศในภูมิภาคนี้มีท่าทีร่วมลงนามไปแล้ว

ความแข็งขันของกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นห่วงเรื่องภาระค่าใช้จ่ายยาที่เพิ่มขึ้น ทำให้ท่านรองกิตติรัตน์ต้องออกแรงเจรจากับ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นการส่วนตัวให้ส่งสัญญาณตรงไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นหัวจักรใหญ่ที่เห็นผลกระทบด้านยาที่จะเกิดขึ้นหลังข้อตกลงนี้

การเจรจานอกรอบระหว่างสองรัฐมนตรี จึงเป็นเรื่องของการขอให้ยอมเปิดทางการเจรจานี้ให้เกิดขึ้นไปก่อน หรือให้ สธ. ยอม เพื่อให้การเจรจาเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นใครบอกว่า กิตติรัตน์เดียงสาทางการเมืองคงไม่ใช่อีกต่อไป เพราะว่าการล็อบบี้เจรจานอกรอบเป็นวิธีการของนักการเมืองเก่าๆ เขาทำกัน

น่าเสียดายว่า ความตรงไปตรงมาเรื่องเป้าหมายการส่งออก น่าจะนำมาใช้กับการเจรจาเอฟทีเอไทยอียู ซึ่งต้องมองผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการเข้าถึงยาของประเทศรวมเข้ามาด้วย

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 กันยายน 2555