ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความขัดแย้งตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาของกระทรวงสาธารณสุข นับจากปมการจ่ายค่าตอบแทนแบบวัดตามผลการปฏิบัติงานหรือ พีฟอร์พีดูจะลุกลามระหว่าง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข และข้าราชการระดับบริหารในกระทรวง ลุกขึ้นมางัดข้อกับแพทย์ชนบทและกลุ่มแพทย์ที่ทำงานในตระกูล ส. ไม่ว่าจะเป็น สสส. สช. สวรช. หรือกระทั่งบางส่วนของแพทย์ในสปสช.

หลายคนมองว่าการสู้ครั้งนี้เป็นเรื่องการเมืองขยายอิทธิพล แต่หากมองลึกลงไปแล้วจะพบว่าไม่ใช่การเมืองอย่างเดียว หากเป็นปัญหาของโครงสร้างอำนาจเก่าของกระทรวงสาธารณสุขที่ระดับบริหารตั้งแต่ปลัดกระทรวงฯ ไล่ลงไปถึง อธิบดีกรมต่างๆ ตระหนักและรับรู้ว่าอำนาจเก่าของข้าราชการกระทรวงถูกลดทอนลงนับตั้งแต่เริ่มมีการตั้งหน่วยงานอิสระอย่าง  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ทำหน้าที่งานรณรงค์ป้องกัน ทอนอำนาจของกรมควบคุมโรค

รวมไปถึงเมื่อเกิดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อำนาจของการจัดการโรงพยาบาลกระจายงบประมาณของสำนักปลัดกระทรวงถูกลดทอนเหลือเพียงแค่ผู้ขายบริการ ขณะที่สปสช.คุมงบประมาณส่วนใหญ่

ความไม่พอใจสั่งสมซึ่งเป็นที่รับรู้กันมาตลอดว่า ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขไม่ปลื้มกับหน่วยงานอิสระมากนัก เช่นในบางส่วนของงานป้องกันโรค ของกรมควบคุมโรคดูจะลดประสิทธิภาพลงไปเพราะการจัดซื้อวัคซีนหรืองานป้องกันบางส่วนถูกแยกออกไป

แต่ความบาดหมางไม่พอใจเริ่มหนักหน่วงขึ้นเมื่อ ในยุครมว.สาธารณสุข ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ออกประกาศวิธีการจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 4, 6, 7 ตามข้อเรียกร้องของแพทย์ชนบท มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดคนทำงานในชนบทแต่ปัญหาการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว เกิดความไม่เท่าเทียมเหลื่ยมล้ำกับแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป  จนสร้างความไม่พอใจให้กับแพทย์ทั้ง 2 กลุ่ม

ความขัดแย้งที่สั่งสมมานานในหลายจุดโดยไม่มีการสะสางทำให้ปัญหาเริ่มชัดเจนมากขึ้น เมื่อนพ.ประดิษฐ์ คิดหยั่งเชิงเข้าไปจัดการ หน่วยงานตระกูล ส. เพราะที่ผ่านมากระทรวงไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ ด้วยการตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติขึ้นมาเพื่อบูรณาการการบริหารที่กระจัดกระจายให้ไปในทิศทางเดียวกัน

 แต่ความพยายามดังกล่าว กลายเป็นปมขัดแย้งที่หน่วยงานตระกูล สสส.ไม่พอใจ และไม่ไว้ใจถึงขั้นเตรียมการเพื่อรับมือ  เงียบๆ จนกระทั่ง  นพ.ประดิษฐ์เริ่มเปิดศึกกับแพทย์ชนบท ด้วยการประกาศจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่ที่วัดตามผลงานหรือพีฟอร์พี ทำให้ทั้งสองกลุ่มมารวมกัน เพื่อโค่นนพ.ประดิษฐ์โดยจะเห็นว่าการคัดค้านการจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พีของแพทย์ชนบทมีเป้าอยู่ที่ ไล่ นพ.ประดิษฐ  เพราะเห็นว่าหากปล่อยให้บริหารนอกจากแนวคิดไม่น่าไว้ใจแล้ว  อาจจะรับมือได้ยากในอนาคต

ฟาก นพ.ประดิษฐ ดูเหมือนจะไม่นิ่งเฉยและมองทะลุเช่นกัน ออกไม้เด็ดที่ถือเป็นจุดอ่อนของอีกฝั่งด้วยการ มอบหมายให้ นายกมล บันไดเพชร เลขานุการ รมว.สธ. ยืนหนังสือถึงดีเอสไอ ตรวจสอบปมวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลปนเปื้อน และความล่าช้าในการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) ภายใต้การบริหารงานของ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ.

หลังจากดีเอสไอรวบรวมเอกสารหลักฐานชี้ว่าทั้ง 2 กรณีข้างต้น ถือว่าเข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.บ.ฮั้วการประมูล มาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยทางดีเอสไอได้ทำการส่งเรื่องเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ทว่าหลังจากดีเอสไอส่งเรื่องต่อไปยัง ป.ป.ช.เพียงไม่กี่วัน คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม(บอร์ด อภ.) ได้ใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง ก่อนจะมีมติยกเลิกสัญญาจ้าง นพ.วิทิต เนื่องจากบกพร่องต่อหน้าที่และไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาจ้างทันที

ความผิดของหมอวิทิตเพียงการบริหารงานบกพร่องแต่ไม่ได้ชี้ในเรื่องทุจริต และเป็นที่รับรู้ร่วมกัน หมอวิทิตมีฝีมือในการบริหารโรงพยาบาลบ้านแพ้วจนได้รับความเชื่อถือในวงการและเป็นที่ยอมรับว่า หมอวิทิตในช่วงบริหารอภ.กล้าหาญผลิตยาซีแอลและทำให้ยาล้างไตที่มีราคาแพงมากถูกที่สุดจนทำให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการล้างไตมากขึ้น

การไล่บี้หมอวิทิตครั้งนี้จึงกลายเป็นชนวนการเมืองรังแกคนดีที่ดูเหมือนจะปลุกกระแสขึ้นและอาจจะกลายมาเป็นแรงกดดันนพ.ประดิษฐ์อีกครั้ง โดยวัดกันในวันที่มิถุนายนนี้แพทย์ผู้ป่วยจะออกมาชุมนุมหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี

ผู้เขียน : สิรินาฏ  ศิริสุนทร email : Uam_ok@yahoo.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 พฤษภาคม 2556