ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

บอร์ด สปสช. เตรียมชง คกก.ร่วม 3 กองทุนรักษาพยาบาลแก้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหลังแบกรับหนี้รักษาผู้บาดเจ็บจากรถขาดทุน 5-6 พันล้านบาทต่อปี เหตุขั้นตอนเบิกจ่ายยุ่งยาก ส่งผลให้ประชาชนเลือกเบิกจากกองทุนสุขภาพอื่นแทน ด้าน "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" จี้เร่งเดินหน้า เพราะที่ผ่านมาบริษัทประกันภัยได้ประโยชน์ แต่ประชาชนเสียหาย

หลังจากรัฐแบกภาระงบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวานนี้ (11 ต.ค.) นายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวในการประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2556 ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นช่วงระยะเวลาเพื่อจัดวางระบบที่ดี แต่ต่อจากนี้ไปจะถือเป็นช่วงเวลาการสร้างอนาคตเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเดินไปข้างหน้าเพราะอัตราสัดส่วนค่าใช้จ่ายสุขภาพของประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ 6% ของจีดีพีจากแต่เดิมอยู่ที่ 2-3% ของจีดีพีเท่านั้น

หากคงอัตรานี้ไม่ให้เกินจากนี้คงไม่เป็นปัญหา ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร อย่างเช่น การควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา การต่อรองราคายา เป็นต้น ทั้งยังทำให้งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปี 2556 ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นจึงไม่ทำให้เกิดผลกระทบมาก แต่ในส่วนงบประมาณปี 2557 คงต้องมีการประเมินอีกครั้ง

นอกจากนี้ในเรื่องการจัดการงบประมาณยังได้รับมอบหมายจากนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ไปดูเรื่องค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุโดยเฉพาะในส่วนของประกันอุบัติเหตุ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าผู้ประสบอุบัติเหตุที่เข้ารักษาพยาบาล พบว่า ส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมไม่ทำเบิกจ่ายกับกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อนำมาเป็นค่ารักษา ทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการต้องเป็นผู้จ่ายค่ารักษาแทนการเบิกจ่ายเบี้ยประกัน ทำให้ทั้ง 3 กองทุนขาดทุนจากการดูผลผู้ป่วยในส่วนนี้ประมาณ 5-6 พันล้านบาทต่อปี ทั้งที่มีเงินกองทุนรักษาพยาบาลอุบัติเหตุดูแลอยู่ ดังนั้นจึงควรมีการแก้ปัญหานี้

ส่วนแนวทางในการแก้ไขอยู่ระหว่างการพิจารณา แบ่งเป็น 2 แนวทางดำเนินการ คือ 1.การเข้าไปแก้ไขระบบจัดการบริการการโอนจ่ายเงิน เพราะทุกวันนี้มันมีความยุ่งยากในการเบิกจ่ายมาก จึงควรมีการปรับแก้ไขให้มันง่ายขึ้น 2.การแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยให้มีการโอนเงินกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมาอยู่ฝั่งสาธารณสุขแทนที่จะไปอยู่กับฝ่ายประกันภัย

"เวลามีการเก็บค่าเบี้ยประกันอุบัติเหตุ ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุก็ต้องเข้าโรงพยาบาล ดังนั้นจึงควรนำค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ มาตั้งเป็นกองทุนที่อยู่ในระบบสาธารณสุขแทน แทนที่จะอยู่ในสำนักงานประกัน โดยนำมาเฉพาะในส่วนของการรักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่รวมถึงกองทุนทดแทนกรณีพิการหรือเสียชีวิตโดยทุกฝ่ายต่างเห็นด้วย"

นายคณิศ กล่าวว่า ตอนนี้ทุกคนต่างเห็นปัญหาความซ้ำซ้อนการจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น คงต้องมีความพยายามเพื่อผลักดัน ซึ่งเบื้องต้นคงจะมีการนำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการร่วม 3 กองทุนรักษาพยาบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อพิจารณาว่าจะเดินไปทางใด โดยคณะกรรมการชุดนี้มีรองปลัดกระทรวงการคลังที่ดูแลเรื่องการประกันภัยร่วมอยู่ด้วย

ส่วนปัญหาการคัดค้านจากกลุ่มประกันภัยนายคณิศ กล่าวว่า คงต้องมีเสียงคัดค้าน แต่เรื่องชี้นำเบี้ยประกันอุบัติเหตุตั้งกองทุนนี้ถือเป็นข้อเท็จจริงก็ต้องว่าไปตามนั้น โดยเฉพาะเวลาที่ผู้ประสบภัยไปขอรับเบี้ยประกัน ปรากฏว่าต้องใช้เอกสารมาก ซ้ำมีขั้นตอนยุ่งยาก ก็คงต้องมาคุยกันเป็นเรื่องธรรมดา

"ยังไม่ถึงกับการเสนอขอให้ยุบกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เพียงแต่ว่าตอนนี้เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นและมีผู้บาดเจ็บเข้ารักษา ให้ สปสช. ทำหน้าที่บริหารจัดการเบิกจ่ายไปก่อน คล้ายกับระบบดูแลฉุกเฉินในขณะนี้" นายคณิศ กล่าว

มูลนิธิผู้บริโภคหนุนแก้ไข

นางสาวกชนุช  แสงแถลง หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนผู้บริโภค มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีที่มีการเตรียมเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ในส่วนของค่ารักษาพยาบาล ว่า อุบัติเหตุวิกฤติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุทางรถ แต่ที่ผ่านมาทั้ง 3 กองทุนไม่สามารถเข้าไปแตะเรื่องนี้ได้ เพราะติดปัญหาที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่ทำให้เงินกระจายไปอยู่บริษัทประกันของเอกชนหลายๆ แห่ง ดังนั้น เห็นด้วยและสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ หากจะดึง พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยทางรถเข้ามานั้นต้องบอกว่า เรื่องการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ทางเครือข่ายภาคประชาชนได้ผลักดันให้ยกเลิก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว และสนับสนุนให้มี พ.ร.บ.กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ และรัฐเป็นผู้ดำเนินการเอง ไม่ใช่ให้บริษัทประกันภัยของเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะทำให้ประชาชนจ่ายเบี้ยประกันในราคาที่ถูกลง

"สินไหมทดแทนเป็นเรื่องยาก ซึ่งเจตนาของบริษัทเอกชนก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องกำไร ขณะที่ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยทางรถ เป็นกฎหมายภาคบังคับให้ประชาชนต้องทำตาม แต่ทำไมถึงให้บริษัทเอกชนที่ห่วงเรื่องกำไรมาเป็นคนทำเรื่องนี้" นางสาวกชนุช กล่าว

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์ประสานงานเครือข่ายจังหวัดได้เคยเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เพราะจากการสำรวจข้อมูลของศูนย์ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคใน 44 จังหวัด พบว่าผู้บาดเจ็บที่ประสบอุบัติเหตุจากรถ ทั้งที่เป็นฝ่ายคู่กรณีและบุคคลที่ 3 ต่างมีปัญหาการเบิกจ่ายและใช้สิทธิอย่างมาก เนื่องจากมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้สิทธิเพื่อเบิกจ่ายตาม พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถต่ำมาก มีเพียงร้อยละ 42 ส่วนอีกร้อยละ 55.3 ไม่ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถนี้ โดยหันไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลในกองทุนสุขภาพอื่นๆ

นอกจากนี้ยังพบว่าในจำนวนผู้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ร้อยละ 99.6 หรือเกือบทั้งหมดต่างประสบปัญหาการเบิกจ่ายทั้งสิ้น และในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งต้องหันไปเบิกค่ารักษาพยาบาลร่วมกับกองทุนสุขภาพอื่นๆ โดยร้อยละ 43.10 ใช้ควบคู่กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และอีกร้อยละ 16.10 ใช้ควบคู่กับระบบประกันสังคม

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 ตุลาคม 2555