ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ กล่าวในการประชุมวิชาการ "ครบรอบ 10 ปี คดีเพิกถอนสิทธิบัตรยาดีดีไอ" ว่า กรณีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) อยู่ระหว่างการวิจัยและผลิตยาต้านไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสูตรแทนสูตรพื้นฐาน แต่อาจติดปัญหาไม่สามารถผลิตได้ เนื่องจากบริษัทยารายหนึ่งขอขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการผลิตยาชนิดนี้แล้วนั้น อาจซ้ำรอยกับกรณีที่ประชาชนเคยร้องกรณีบริษัท บริสตอล ไมเยอร์ สควิปป์ หรือ บีเอ็มเอส (BMS) และกรมทรัพย์สินไม่มีความชอบธรรมในการจดสิทธิบัตรยาดีดีไอ หรือยาเอชไอวี

"ยาชนิดนี้ไม่ใหม่ เนื่องจากเป็นยาสูตรผสมระหว่างยาทีโนโฟเวียร์ และยาเอ็มไตรซิทางบีน จึงเท่ากับเป็นการจดสิทธิบัตรแบบซ้ำซ้อน หรือสิทธิบัตรไม่มีวันตาย (Evergreening Patent) เพราะเพียงแต่ปรับเพิ่มเติมตัวยาเดิม ที่สำคัญกรมทรัพย์สินไม่มีการพัฒนาหรืออัพเดตข้อมูลการขอขึ้นทะเบียนให้รวดเร็ว ทำให้ อภ.ไม่สามารถคัดค้านการขอสิทธิบัตรได้ทันใน 90 วัน ทั้งนี้ ยังต้องระวังเมื่อไทยเข้าสู่การเปิดการค้าเสรี รัฐบาลต้องมีจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ เกี่ยวกับสิทธิบัตร โดยเฉพาะเรื่องยา เพราะเกี่ยวกับชีวิตคน ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจมีการขอขยายสิทธิบัตรจาก 20 ปี เป็น 25-30 ปี หากเป็นจริง คนไทยจะเข้าถึงยายากขึ้น เพราะยามีราคาแพง" น.ส.สุภัทรากล่าว

นางอัจฉรา เอกแสงศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา อภ. กล่าวถึงยาเอชไอวีที่ อภ.กำลังผลิตว่า เพิ่งทราบว่าบริษัทยาได้ขอขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพย์สินและ อภ.คัดค้านไม่ทัน จึงไม่มีความชัดเจนว่าเรื่องนี้จะมีข้อยุติอย่างไร

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชนได้รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านคำขอจดสิทธิบัตรยาต้านไวรัสของบริษัท กิลลีแอด (Gilead) เนื่องจากยาทีโนโฟเวียร์เป็นยาที่ไม่ได้ยื่นสิทธิบัตรในไทย ส่วนยาเอ็มไตรซิทางบีนจะหมดสิทธิบัตรในอีก 1 ปี แต่จนถึงขณะนี้กรมทรัพย์สินยังไม่มีคำตอบใดๆ

ที่มา: นสพ.มติชน วันที่ 18 ตุลาคม 2555