ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ภาคประชาสังคมหนุนกระทรวงการคลังยกเลิกการให้เบิกกลูโคซามีน ตั้งข้อสังเกตการทำหน้าที่ของ กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภาปกป้องผลประโยชน์ใคร 

(กรุงเทพฯ/ 30 ต.ค.) ตามที่กระทรวงการคลังได้ประกาศยกเลิกการให้เบิกจ่ายกลูโคซามีนสิทธิรักษาพยาบาลของสวัสดิการข้าราชการ แต่ขณะนี้มีแรงกดดันจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะการวิ่งเต้นของบริษัทยาให้กระทรวงการคลังกลับมติดังกล่าว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมองว่า ถือเป็นความก้าวหน้าของกรมบัญชีกลาง ที่ยืนยันไม่ให้เบิกกลูโคซามิน เพราะการตัดสินใจในเรื่องที่ผูกพันกับงบประมาณแผ่นดินที่เป็นภาษีของประชาชนทั้งประเทศต้องตั้งอยู่บนข้อมูลทางวิชาการที่ชัดเจน ที่ผ่านมา รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการใช้ยานี้ไม่น้อยกว่า700 ล้านบาทต่อปี และทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมกับระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

“การประกาศครั้งนี้ถือเป็นการสนับสนุนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของรัฐบาล ไม่ปล่อยให้บรรดาผู้ป่วย-ผู้บริโภคถูกแพทย์พาณิชย์ ที่หากินร่วมกับ บรรษัทยาข้ามชาติปั่นหัว ทำให้เชื่อว่า ยาดีต้องราคาแพงและแอบจ่ายยาฟุ่มเฟือยให้กับผู้ป่วยมาตลอด  จนเหมือนกับเราเสพติดยาทั้งที่เป็นผลร้ายกับผู้ป่วยเอง แต่เป็นการทำกำไรบนชีวิตประชาชน อีกทั้งเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของการรอนสิทธิผู้ป่วยแต่อย่างไร แต่เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคต่างหาก เพราะผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพอื่นก็ไม่เคยได้รับยานี้มาก่อน เนื่องจากคณะผู้เชี่ยวชาญในการคัดเลือกบัญชียาหลักแห่งชาติมองว่ายานี้ไม่ควรได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพราะความไม่ชัดเจนของประสิทธิผลรวมทั้งไม่คุ้มค่าที่จะใช้”

ผู้อำนวยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ยังตั้งข้อถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภาในเรื่องดังกล่าวว่า คณะกรรมาธิการสาธารณสุขมักมีข้อสังเกตที่เห็นแย้งกับความพยายามของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆที่พยายามจะควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาให้สมเหตุสมผล เช่น การทำรายงานวิเคราะห์ปัญหานโยบายและการดำเนินการของ 3 กองทุนสุขภาพที่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายงานฉบับเต็มเพื่อให้นักวิชาการและองค์กรต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมวิเคราะห์ เพราะตามที่ให้ข่าวกับสื่อมวลชนนั้น ถือว่าเป็นบทวิเคราะห์ที่ไม่มีความเข้าใจต่อระบบสาธารณสุขในภาพรวม และอาจมีประเด็นที่ต้องการปกป้องประโยชน์ของ รพ.นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ยังได้ทวงถามถึงคำชี้แจงจากคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภาถึงความไม่ชอบธรรมในการการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการดำเนินการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาที่ภาคประชาสังคมได้ร้องเรียนไปทางประธานวุฒิสภา ตั้งแต่ปลาย ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม เคยทำหนังสือร้องเรียนความไม่ชอบธรรมดังกล่าว เนื่องจากพบว่า รายชื่ออนุกรรมาธิการฯ มี พญ.กิติมา ยุทธวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (Chief Executive Officer of Pharmaceutical Research &Manufacturers Associatin / PReMA) ซึ่งเป็นสมาคมของบรรษัทยาข้ามชาติที่มีจุดยืนคัดค้านการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐมาโดยตลอด และสมาชิกของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) ก็เป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาที่ถูกประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตร ดังนั้นการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้จึงขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง และขอให้มีการตรวจสอบและแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้เกี่ยวข้องทราบโดยด่วน แต่ทางวุฒิสภาไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ แต่กลับปล่อยให้มีรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่องการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการดำเนินการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาที่มีข้อบกพร่องและข้อความบางจุดที่อาจก่อให้เกิดการเข้าใจผิด

“การประกาศซีแอลของไทยใช้เหตุผลตามมาตรา ๕๑ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ได้ใช้เหตุผลของการขาดแคลนอย่างรุนแรง ไม่เพียงเท่านั้น ในปกหลังของรายงานการศึกษาฉบับนี้ยังไปนำภาพปกหนังสือ ‘สิทธิบัตรยา เล่ห์อุบายการผูกขาด’ จัดพิมพ์เผยแพร่โดยแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ สิงหาคม ๒๕๕๒ โดยไม่มีการขออนุญาต ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งหมดนี้ ประธานวุฒิสภาควรตรวจสอบการจัดทำรายงานให้มีความถูกต้องและไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียแก่วุฒิสภาในภาพรวม”