ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญไวรัสชี้คอตีบกลับระบาดในไทยเหตุภูมิคุ้มกันจากวัคซีนตก สธ.เตรียมหารือกำหนดกลุ่มอายุฉีดวัคซีนกระตุ้นเพิ่ม ป้องกันแพร่ระบาด-ลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการการเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาโรคคอตีบต่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจังหวัด จากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ว่า จากกรณีโรคคอตีบที่หายจากประเทศไทยกว่า 17 ปี กลับมาพบผู้ป่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกครั้ง มีสาเหตุมาจากภูมิคุ้มกันโรคที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนในวัยเด็กตกลงหรือบางกลุ่มอาจไม่ได้รับวัคซีนจึงทำให้มีโอกาสจะติดเชื้อได้

สำหรับโรคคอตีบส่วนใหญ่จะพบในเด็ก แต่ปัจจุบันพบการป่วยในทุกกลุ่มวัย ทั้งนี้ มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคคอตีบในเดือนมิถุนายน 2555 ที่ จ.เลย และพบผู้ป่วยประมาณ 50 ราย จากทั้งหมด 87 ราย ใน 15 จังหวัด ได้แก่ เลย, เพชรบูรณ์, หนองบัวลำภู, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี, พิษณุโลก, สกลนคร, ชัยภูมิ, ขอนแก่น, หนองคาย, เชียงราย, พิจิตร, อุตรดิตถ์, บึงกาฬ และน่าน

สำหรับระยะฟักตัวโรคคอตีบล่าสุดพบมีระยะฟักตัวนานาถึง 4 สัปดาห์ ซึ่งผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ต่ำๆ คล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอ เจ็บคออักเสบ เมื่อตรวจดูจะพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นบริเวณต่อมทอนซิล โดยผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนใหญ่เกิดจากโรคแทรกซ้อน อาทิ ทางเดินหายใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และปลายประสาทอักเสบ ทั้งนี้ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมีการเรียกประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการควบคุมโรคคอตีบ โดยหัวข้อในการหารือจะเป็นการกำหนดกลุ่มอายุที่จะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นเพิ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดและลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย

ด้าน รศ.พิเศษ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒินสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า วิธีการรักษาสามารถทำได้ 4 วิธี คือ 1.ให้ยาต้านพิษทันที 2.ส่งตรวจเชื้อหาสายพันธุ์ของโรคคอตีบสายพันธุ์ที่เป็นพิษ 3.ให้ยาปฏิชีวนะ และ 4.อยู่ในการดูแลของแพทย์ 2-3 สัปดาห์เพื่อป้องกันปัญหาอาการแทรกซ้อนเพราะผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของปลายเส้นประสาทและหัวใจ ส่วนเรื่องการป้องกันในเบื้องต้นประชาชนควรรักษาความสะอาดและเมื่อไปสัมผัสในแหล่งชุมชนเมื่อกลับมาบ้านหรือก่อนรับประทานอาหารควรล้างมือบ่อยและกินร้อนช้อนกลาง หรือหลีกเลี่ยงในพื้นที่แออัดส่วนผู้ที่เป็นหวัดก็ควรใส่ผ้าปิดจมูกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และถ้ามีอาการเข้าข่ายควรไปพบแพทย์เพื่อรักษา และป้องกันการแพร่ระบาด  --จบ--

ที่มา : นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันที่ 15 พ.ย. 2555