ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยชี้ 'ระเบียบพนักงาน ก.สธ.' แก้ปัญหา 'บรรจุข้าราชการ'ไม่ตรงจุด เตรียมแสดงท่าทีในเวทีนานาชาติ ยัน'คนไข้' รับผลกระทบแน่

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน รศ.จินตนา ยูนิพันธุ์ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เปิดเผยว่า ใน วันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งมีการประชุมสมาคมพยาบาลนานาชาติ ที่โรงแรมอโนมา สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ จะแสดงท่าทีต่อกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ปรับเปลี่ยนสถานภาพพนักงานลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (ก.สธ.) เพื่อแก้ปัญหาที่ไม่สามารถบรรจุพนักงานลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงประมาณ 30,000 คน เป็นข้าราชการได้ทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้มีกลุ่มพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวอยู่ประมาณ 17,000 คน ด้วย

"การที่ สธ.เตรียมแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการร่างระเบียบพนักงาน ก.สธ.นั้น ยังเป็นเรื่องการแก้ปัญหาระยะยาว เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลากหลายวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ ฯลฯ แต่ละสาขามีความต้องการสิทธิ สวัสดิการ ที่แตกต่างกัน แม้ร่างระเบียบดังกล่าว โดยหลักการจะยึดความมั่นคงเป็นหลักเหมือนสิทธิสวัสดิการข้าราชการ แต่กระบวนยังต้องใช้เวลา จำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์อย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นธรรมที่สุด ดังนั้นจึงไม่ควรเร่งรีบ" รศ.จินตนากล่าว และว่า กรณีที่กลุ่มพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวออกมาเรียกร้องขอบรรจุเป็นข้าราชการนั้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ทำงานมาตั้งแต่ปี 2549 บุคลากรกลุ่มนี้รอบรรจุเป็นข้าราชการมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้สิทธิ

รศ.จินตนากล่าวอีกว่า สำหรับตัวเลขลูกจ้างชั่วคราวที่ สธ.จะเสนอบรรจุเป็นข้าราชการในปี 2556 นั้น เบื้องต้นได้เพียง 4,000 อัตรา จากทั้งหมด 11,000 อัตรา แต่ไม่ใช่พยาบาลวิชาชีพอย่างเดียว ยังรวมหลากหลายวิชาชีพ ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพยาบาล ดังนั้น สธ.ควรพิจารณาให้กลุ่มพยาบาลที่ทำงานมานานก่อน ทั้งนี้ ในเวทีการประชุมสมาคมพยาบาลนานาชาติ ในส่วนของพยาบาลไทยจะนำเสนอผลกระทบของประชาชนไทยในกรณีที่พยาบาลลูกจ้างชั่วคราวไม่ถูกบรรจุเป็นข้าราชการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในกรณีที่พยาบาลลูกจ้างชั่วคราวไม่ได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ ประชาชนจะได้รับผล กระทบอย่างไร รศ.จินตนากล่าวว่า หากรักษาพยาบาลกลุ่มนี้ไว้ไม่ได้ สุดท้ายก็จะเกิดปัญหาพยาบาลไหลออก จากระบบสาธารณสุขภาครัฐ ยิ่งใกล้เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 พยาบาลก็มีสิทธิไหลออกมากขึ้น เพราะพยาบาลกลุ่มนี้ทำงานมานานไม่ต่ำกว่า 5-7 ปี มีประสบการณ์ และเชี่ยวชาญ หากรักษาพวกเขาไม่ได้ สุดท้ายก็จะส่งผลต่อคนไข้แน่นอน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 22 พฤศจิกายน 2555