ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สมาคมพยาบาลฯล่าชื่อสมาชิกเตรียมยื่น'นายกรัฐมนตรี' ให้บรรจุ 1.7 หมื่นคน เป็น'ข้าราชการ'ภายในมกราคม 2556  ลั่นหากพ้นกำหนดนัดหยุดงานประท้วงแน่

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ในการประชุมพยาบาลระดับเอเชียและภาคพื้นแปซิฟิก ที่โรงแรมอโนมา รศ.จินตนา ยูนิพันธุ์ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย แถลงข่าว "คุณภาพของระบบบริการกับกรณีพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข" ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการจ้างงานพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวอย่างไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายจำกัดกำลังคนข้าราชการ การที่พยาบาลกลุ่มนี้มีภาระงานหนักนาน 7-8 ปี แต่ สธ.มีแผนจะปรับให้บุคลากรกลุ่มนี้เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (ก.สธ.) แทนนั้น เห็นว่ายังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

รศ.จินตนาแถลงว่า หากพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เชื่อว่าจะเกิดวิกฤตพยาบาลไหลออกนอกระบบสาธารณสุขภาครัฐ ซึ่งนอกจากออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนแล้ว ยังอาจไปทำงานในต่างประเทศ และประชาชนไทยจะได้รับผล กระทบแน่นอน จึงเรียกร้อง 1.ต้องมีการบรรจุพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว 17,000 คน เป็นข้าราชการสังกัด สธ.ทั้งหมดภายในเดือนมกราคม 2556 ขณะนี้มีตัวแทนพยาบาลทั่วประเทศลงชื่อสนับสนุน 32,874 รายชื่อเตรียมยื่นต่อนายกรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้

รศ.จินตนาแถลงอีกว่า 2.ให้ สธ.ผลักดันให้มีการกำหนดกรอบอัตรากำลังพยาบาลใหม่เป็นการเฉพาะสำหรับกลุ่มกำลังคนด้านการพยาบาล 3.ตำแหน่งพยาบาลที่เกษียณอายุราชการทั้งหมดขอสงวนไว้สำหรับบรรจุเฉพาะพยาบาลเท่านั้น และ 4.ให้ สธ.ทบทวนวิชาชีพพยาบาล โดยคงสถานะของการเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เช่นเดียวกับแพทย์และทันตแพทย์ และยังเป็นสาขาที่รัฐบาลไทยลงนามในข้อตกลงร่วมให้เป็นสาขาวิชาชีพที่มีการเคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศกลุ่มอาเซียนได้ด้วย ส่วนกรณีที่ สธ.มีแผนปรับสถานะลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงาน ก.สธ.นั้น ควรกำหนดเฉพาะกลุ่มพยาบาลจบใหม่เท่านั้น

น.ส.วรรณวิภา ศรีหอมชัย ประธานภาคกลางเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว แถลงว่า เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพไม่รับข้อเสนอที่จะปรับสถานะให้เป็นพนักงาน ก.สธ. และหลังเดือนมกราคม 2556 หากยังไม่บรรจุพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวทั้ง 17,000 คน เป็นข้าราชการ จะนัดหยุดงานพร้อมกันทั่วประเทศ โดยก่อนหยุดงานจะทำหนังสือผ่านโรงพยาบาลต้นสังกัดไปยังผู้บริหาร สธ.เพื่อให้รับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

นายจักรี กั้วกำจัด สมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพมหานคร แถลงว่า ปัจจุบันพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวทำงานหนัก 16 ชั่วโมงต่อวัน เรียกว่าทำงานหามรุ่งหามค่ำ เช่น ปฏิบัติงานที่ห้อง ไอซียู พยาบาลมีสัดส่วนต่อผู้ป่วย 1 ต่อ 4 ขณะที่มาตรฐานสากล 1 ต่อ 1 เท่านั้น ส่วนการบริการผู้ป่วยทั่วไป พบว่ามีสัดส่วนพยาบาลต่อเตียงผู้ป่วยสูงถึง 1 ต่อ 8 เตียง หากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะสูงถึง 1 ต่อ 12 เตียง ขณะที่มาตรฐานคือ 1 ต่อ 6

"ส่วนอัตราเงินเดือนของพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวก็ไม่เท่ากัน เพราะเป็นการให้เงินเดือนโดยใช้เงินบำรุงจากโรงพยาบาล บางแห่งมีเงินบำรุงมาก ไม่ขาดสภาพคล่องก็อาจถึงเดือนละ 15,000 บาท บางแห่งได้ 12,000 บาท ซ้ำร้ายสุดได้เดือนละ 9,000 บาทก็มี ส่วนค่าโอทีบางแห่งจ่ายข้ามปี แม้จะเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงาน ก.สธ. หากสุดท้ายใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลจ่ายเงินเดือน ก็ไม่มั่นคงอยู่ดี" นายจักรีกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 23 พฤศจิกายน 2555