ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

รมช.สธ. เร่งเพิ่มคุณภาพบริการการแพทย์แผนไทยในสถานพยาบาล 10,692 แห่ง และพัฒนาโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยต้นแบบที่อยู่ในสังกัด 10 แห่ง ดำเนินการนำร่องรับผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาล ดูแลด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย กินยาสมุนไพรไทย เก็บข้อมูลศึกษาวิจัย เพื่อกำหนดมาตรฐานการรักษาผู้ป่วย เป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพแก่แพทย์แผนไทยทั่วประเทศเป็นครั้งแรก

วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2555) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานเปิดแพรคลุมป้ายอาคารผู้ป่วย “เฉลิมพระเกียรติ 7รอบพระชนมพรรษา” ขนาด 144 เตียง โรงพยาบาลอำนาจเจริญ และทอดผ้าป่าสามัคคีมหากุศลจัดซื้อครุภัณฑ์การแพทย์ ให้บริการแก่ประชาชน จากนั้นได้เดินทางไปมอบกระเป๋าเยี่ยมบ้าน และชุดวัดความดันโลหิต แก่ตัวแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. จำนวน 60 ชุด ที่หอประชุมพญานาครินทร์ ที่ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ และตรวจเยี่ยมศูนย์แพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลพนา จังหวัดอำนาจเจริญซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนต้นแบบ ให้บริการด้วยแพทย์แผนไทยครบวงจร ทั้งการตรวจ รักษา ผลิตยาสมุนไพรและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทย โดยผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบันในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ ซึ่งขณะนี้ให้บริการแล้ว 10,692 แห่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการแพทย์แผนไทยได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันโดยจะเร่งพัฒนาให้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐมีมาตรฐานยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้ใช้ยาสมุนไพรให้มากขึ้น และเพิ่มบริการแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะการนวดเพื่อฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

ประการสำคัญ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยต้นแบบของประเทศ ซึ่งเปิดดำเนินการในปี 2554-2555 จำนวน 14 แห่งทั่วประเทศ โดยให้บริการตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยที่แผนกผู้ป่วยนอก ประกอบด้วยโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 10แห่ง ได้แก่ 1. รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี 2.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จ.ปราจีนบุรี 3.รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี 4.รพ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว 5.รพ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว 6.รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ7.รพ.สมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่ 8.รพ.เทิง จ.เชียงราย 9.รพ.ท่าโรงช้าง จ.สุราษฏร์และ10.รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ที่ยศเส กรุงเทพฯ และอยู่นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีก 4 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย และมหาวิยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2556 นี้ จะเริ่มดำเนินการนำร่องรับผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 10 แห่ง ให้การดูแลด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย กินยาสมุนไพรไทย เพื่อเก็บข้อมูลโดยการศึกษาวิจัย กำหนดมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยแก่แพทย์แผนไทยเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพแก่แพทย์แผนไทยทั่วประเทศเป็นครั้งแรกนอกจากนี้ จะทำการศึกษาวิจัยการบำบัดรักษาโรคเรื้อรังด้วยการแพทย์แผนไทยเช่นโรคตับแข็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และอื่นๆ ใช้ยาไทยที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาสมุนไพรที่แพทย์แผนไทยปรุงเฉพาะราย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้รับการดูแลที่หลากหลายยิ่งขึ้น