ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

จากข้อมูลในการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือเมดิคัล ทัวริซึ่มของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พิจารณาเฉพาะชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพจากโรงพยาบาลเอกชนในไทย ซึ่งประมาณการว่า ในปี 2555 ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 1,740,000 ล้านบาท (58,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)โดยภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 15% มีประเทศผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่สำคัญ คือ สิงคโปร์ ไทย อินเดีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ โดยสิงคโปร์มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดมีสัดส่วน 33% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 90,000 ล้านบาท รองลงมา คือ ไทย สัดส่วน 26% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท และอินเดียสัดส่วน 19%คิดเป็นมูลค่าประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท ตามลำดับ

พร้อมผลักดันเป็นเมดิคัล ฮับ

ในเรื่องนี้ นายแพทย์สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยมีความพร้อมในการรองรับเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือเมดิคัล ทัวริซึ่ม เป็นอย่างมากและพร้อมที่จะผลักดันให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชียหรือ เมดิคัล ฮับ เนื่องจากมีความพร้อมในทุกด้านๆ โดยเฉพาะบุคลากรแพทย์ ที่มีความเชี่ยวชาญ ความรู้ความชำนาญ และเพียงพอต่อผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาพยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ เทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย การได้รับมาตรฐานระดับสากล (เจซีไอ) ความคุ้มค่าในการรักษา และการให้บริการที่ประทับใจ

ซึ่งนายแพทย์สุพจน์ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลยันฮี และโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลธนบุรี และโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปโรดโชว์ในประเทศต่างๆ พร้อมกับคณะนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของโรงพยาบาลไทยประกอบกับเป็นการสนองต่อนโยบายด้านการท่องเที่ยวไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ 2 ล้านล้านบาทภายในปี 2558 ด้วย

"ตลอดปี 2555 นี้ ตั้งแต่วันที่ 24-27 มีนาคมที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลได้ร่วมเดินทางไปโรดโชว์พร้อมคณะรัฐมนตรีที่ประเทศเกาหลีใต้ วันที่ 17-22 กรกฎาคมที่ประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส วันที่ 15-18 ตุลาคม ที่ประเทศคูเวต วันที่ 12-15 พฤศจิกายน ที่ประเทศอังกฤษและวันที่ 20-23 ธันวาคมนี้ จะร่วมเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศอินเดีย และบังกลาเทศ โดยการเดินทางไปโรดโชว์ในแต่ละประเทศ ทางโรงพยาบาลได้เจรจาการค้ากับบริษัท และหน่วยงานที่สนใจเป็นจำนวนมาก ทั้งเอเย่นต์ บริษัททัวร์ บริษัทที่ปรึกษาเรื่องสุขภาพ และบริษัทประกัน ซึ่งนำเสนอการให้บริการที่โดดเด่นของทางโรงพยาบาลเป็นหลัก เช่น การศัลยกรรมตกแต่งการรักษาโรคหัวใจ การเปลี่ยนหัวใจ การเปลี่ยนกระดูกเป็นต้น โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากบริษัทต่างๆ และมีนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางมารักษาพยาบาลกับทางโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น" นายแพทย์สุพจน์ กล่าว

ทั้งนี้ นายแพทย์สุพจน์ ยังกล่าวว่า แม้ประเทศไทยมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ที่สามารถรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้จริง แต่ก็ยังมีจุดอ่อนที่ยังเป็นภาวะวิกฤติอยู่ในเวลานี้ คือ การขาดแคลนพยาบาลที่ใช้ดูแลผู้ป่วย ซึ่งในแต่ละปีขาดแคลนมากถึง 40,000 คนขณะที่ในแต่ละปีผลิตพยาบาลได้เพียง 7,000-8,000 คนดังนั้นทางภาครัฐจึงต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหา หรือผลักดันให้มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนพยาบาล เพื่อใช้ในการผลิตบุคลากรพยาบาลให้เพียงพอต่อความต้องการกับที่ทางภาครัฐได้เร่งทำการตลาด และประชาสัมพันธ์ออกไป มิฉะนั้นจะเกิดผลเสียในด้านภาพลักษณ์ของประเทศ และด้านภาพลักษณ์การให้บริการ ที่ถือว่าเป็นจุดแข็งของไทยเวลานี้

โดยนายแพทย์สุพจน์ กล่าวต่อว่า ในแต่ละปีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า1 แสนล้านบาท เนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวดังกล่าวนอกจากจะมีผู้ป่วยเดินทางมารักษาพยาบาลแล้ว ยังวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อ ซึ่งมีผู้ติดตามหรือญาติผู้ป่วยเดินทางเข้ามาด้วย มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 3 คน จึงทำให้การเดินทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี อีกทั้งในเวลานี้ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย และเกาหลีได้กำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้เป็นนโยบายอันดับ 1 ในการดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์สุพจน์ กล่าวว่า ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย หรือเมดิคัล ฮับ รวมถึงการเตรียมความพร้อมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในปี 2558 นั้น นอกจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งผลักดันผลิตบุคลากรพยาบาลให้เพียงพอต่อตลาดแล้ว ยังต้องเร่งฝึกสอน และอบรมภาษาการสื่อสารโดยเฉพาะภาษาพื้นฐานหรือภาษาอังกฤษ รวมถึงภาษาอื่นๆ ด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ทางโรงพยาบาลยันฮีเล็งเห็นถึงความสำคัญ ได้เปิดสอนภาษาอังกฤษให้กับบุคลากรภายในโรงพยาบาล เปิดโรงเรียนยันฮีบริบาลภายในโรงพยาบาล ด้วยการเปิดสอนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล หรือที่เรียกว่า ผู้บริบาลผู้ป่วย เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น เช่น การเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เป็นต้น

เทรนด์ตลาดโลกที่ผู้บริโภคสนใจ

ด้าน นางภัททิราพร เขียวสนั่น อุปนายกสมาคมสปาไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นเทรนด์ของตลาดโลกที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ จึงทำให้ทุกๆประเทศในเวลานี้ต่างหันมาเจาะตลาดดังกล่าวมากขึ้นรวมถึงประเทศไทยที่นำมาเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากสามารถนำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าสิ้นปี 2555 นี้ ประเทศไทยจะมีมูลค่าการบริการ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เกี่ยวกับด้านสปาไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5-6%

"เมื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีการตื่นตัวมากขึ้นในตลาดโลก ทำให้การบริการสปาของไทย หรือเมดิคัล สปา ในเวลานี้มีการแตกไลน์ และเพิ่มโปรแกรมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเข้าไปควบคู่กันมากขึ้น เน้นศาสตร์ที่มีการผสมผสานการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยเฉพาะเดสติเนชั่นสปาทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัดเช่น เชียงใหม่ หัวหิน กระบี่ ภูเก็ต และสมุย ที่มีการเพิ่มทรีตเมนต์ต่างๆ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มโปรแกรมการดูแลสุขภาพ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของพ.ร.บ.สถานพยาบาล โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักกายภาพบำบัดคอยแนะนำ และคำปรึกษาตั้งแต่เรื่องโภชนาการ อาหารการกิน การนอนหลับพักผ่อน การทำกิจกรรมบำบัด การล้างสารพิษในร่างกาย การนวดเพื่อผ่อนคลาย การนวดเพื่อรักษาโรค หรือการออกกำลังกายอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะนำเสนอขายเป็นคอร์สระยะสั้นและระยะยาวแบบ 3 วัน 5 วัน 7 วัน และ 10 วัน หรือเป็นรายเดือนให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาใช้บริการ" นางภัททิราพร กล่าว

ทั้งนี้ นางภัททิราพร กล่าวว่า ในปัจจุบันนี้ทางโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ให้ความสนใจเกี่ยวกับเมดิคัลสปามากขึ้น โดยเปิดให้บริการในรูปแบบศูนย์บริการสุขภาพแพทย์ทางเลือก แพทย์แผนไทยอย่างจริงจัง เช่นโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลปิยะเวท พระราม 9 มีศูนย์บริการสุขภาพ ตรัยยาเป็นต้น

สำหรับเมดิคัล สปา ในประเทศไทยนั้น นางภัททิราพร กล่าวว่า แบ่งเป็น 2 ตลาดใหญ่ ได้แก่ เมดิคัล สปาที่เปิดให้บริการในโรงแรม โดยนักท่องเที่ยวจะใช้บริการแบบนวดเพื่อผ่อนคลาย บำรุงสุขภาพผิว แบบรายชั่วโมงและเดสติเนชั่นสปาที่มีอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพื่อใช้บริการสปาโดยเฉพาะ ในการดูแลสุขภาพ เช่น การล้างสารพิษในร่างกาย การปรับสมดุลร่างกาย จะนิยมเดินทางไปใช้บริการที่ เต๋า การ์เด้น เฮลธ์สปาแอนด์รีสอร์ท เชียงใหม่ ระรินจินดา เวลล์เนส สปารีสอร์ท เชียงใหม่ คามาลายา เกาะสมุย และชีวาศรมอินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ท หัวหิว ใช้ระยะเวลาในการบริการอยู่ที่ประมาณ 7-10 วัน

โดย นางภัททิราพร ยังกล่าวต่อว่า ในปีนี้กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทยที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ตลาดรัสเซีย สวีเดน อิตาลี เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ จีน และเกาหลี ขณะที่ตลาดคนไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนอยู่ที่ 40% จากอดีตที่มีสัดส่วนเพียง 20% และต่างชาติมีสัดส่วนอยู่ที่ 60% จากอดีตที่มีถึง 80% รวมถึงกลุ่มลูกค้าผู้ชายมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากเวลานี้กลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นจึงมีการปรับทรีตเมนต์และโปรแกรมต่างๆ เพื่อตอบสนองตลาดผู้ชายอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ นางภัททิราพร ยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ปี 2558 ว่า แม้สปาไทย จะเป็นความต้องการของตลาด เนื่องจากมีเอกลักษณ์ มีพืชสมุนไพรที่ใช้ในการทำสปาที่หลากหลาย และมีบริการที่ประทับใจ แต่ก็จะต้องมีการพัฒนาด้านบุคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ฝึกทักษะทางด้านภาษาการสื่อสาร การบริหารจัดการ และการตลาด เพื่อสามารถแข่งขันในตลาดอาเซียน และตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไทยมีความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโรคเฉพาะทางและค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2555