ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

พลันที่คณะทำงานพิจารณาลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท อนุมัติให้ใช้มาตรการลดการเก็บเงินสมทบประกันสังคมแบบขั้นบันไดลงฝ่ายละร้อยละ 2 ในปี 2556 และลดลงร้อยละ 1 ในปี 2557 จากปัจจุบันที่ "นายจ้าง"และ "ลูกจ้าง" ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ฝ่ายละร้อยละ 5 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความ เดือดร้อนจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไปนั้น

ชัดเจนว่า "กองทุนประกันสังคม" ซึ่งมีเจ้าของคือ "สมาชิกผู้ประกันตน" ประมาณ 10 ล้านคน กำลังจะถูกฝ่ายการเมืองควักเงินสะสมที่สมาชิกผู้ประกันตนพึงได้รับในระยะยาวไปใช้เพื่อหวังผลทางการเมืองของพวกเขา ที่สำคัญการใช้เงินดังกล่าวโดยปราศจากการสอบถามความสมัครใจจากเจ้าของเงิน ยังมีแนวโน้มทำให้สถานะของกองทุนประกันสังคมสั่นคลอน

ความวิตกกังวลดังกล่าวเป็นผลจากโดยปกติเงินสมทบที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องส่งเข้ากองทุนประกันสังคมฝ่ายละร้อยละ 5 จะต้องแบ่งสมทบเข้ากองทุนย่อย 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนชราภาพร้อยละ 3 กองทุนประโยชน์ทดแทน 4 กรณี ประกอบด้วย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดบุตร ร้อยละ 1.5 และกองทุนว่างงาน ร้อยละ 0.5 ดังนั้น คณะกรรมการประกันสังคมจึงคาดการณ์ว่า หากลดเงินสมทบร้อยละ 2 และร้อยละ 1 ในช่วง 2 ปี จะทำให้เงินกองทุนหายไปประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2556 เม็ดเงินในกองทุนประโยชน์ทดแทน 4 กรณี และกองทุนชราภาพหายไปประมาณ 40,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2557 เม็ดเงินใน 2 กองทุนหายไปอีก 25,880 ล้านบาท แม้จะไม่กระทบต่อกองทุนว่างงาน เพราะสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องกันเงินส่วนหนึ่งสำรองไว้หากเกิดภาวะเลิกจ้างตามสภาพเศรษฐกิจ

แต่ข้อมูลเหล่านี้...จำเป็นอย่างยิ่งที่สมาชิกผู้ประกันตน ทั้ง 10 ล้านคน ต้องตระหนัก!

เนื่องเพราะสถานะของกองทุนประกันสังคมในปัจจุบันมีเงินกว่า 9.4 แสนล้านบาท แต่ในจำนวนนี้ต้องแบ่งไว้จ่าย 1.กรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ 8 แสนล้านบาทเศษ ซึ่ง สปส.มีแผนเริ่มจ่ายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนในกรณีชราภาพในปี 2557 แบ่งเป็นผู้รับบำเหน็จ 122,860 คน ผู้รับบำนาญ 3,250 คน รวมวงเงิน 8,260 ล้านบาท ปี 2567 ผู้รับบำเหน็จ 121,860 คน ผู้รับบำนาญ 817,680 คน วงเงินรวม 53,020 ล้านบาท ปี 2577 คาดว่ามีเงินกองทุนเพิ่มเป็น 4.59 ล้านล้านบาท มีผู้รับบำเหน็จ 69,950 คน ผู้รับบำนาญ 3.3 ล้านคน วงเงินรวม 444,610 ล้านบาท ปี 2587 คาดว่ากองทุนติดลบ แต่มีผู้รับบำเหน็จและรับบำนาญรวม 6.3 ล้านคน 2.กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดบุตร วงเงินกว่า 54,000 ล้านบาท และ 3.กรณีว่างงานอีกกว่า 64,000 ล้านบาท 

ก่อนหน้านี้มีหลายฝ่ายออกมาท้วงติงมาตรการลดการเก็บเงินสมทบประกันสังคมของคณะทำงานพิจารณาลดผลกระทบ ทั้งฝ่ายผู้บริหาร สปส. นักวิชาการ ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง อย่างเช่น

จีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการ สปส. ให้ข้อมูลว่า หากจะไม่ให้มาตรการดังกล่าวกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม ควรลดเก็บเงินสมทบไม่เกินฝ่ายละร้อยละ 1 แต่หากไม่สามารถทัดทานมติของคณะทำงานพิจารณาลดผลกระทบฯได้ สปส.จะต้องเตรียมหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเล็งนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนเพิ่มให้หลากหลายช่องทาง เพื่อให้ได้ผลกำไรมากขึ้นสำหรับรองรับเม็ดเงินที่ขาดหายไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะมีการหารืออีกครั้งในที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้

ด้าน พนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการฝ่ายลูกจ้าง บอร์ด สปส. บอกว่า เรื่องนี้ต้องให้เวลาบอร์ด สปส.พิจารณาให้รอบคอบ ต้องชัดเจนว่าลดเงินสมทบแล้ว ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจรายย่อย หรือเอสเอ็มอี ได้รับผลประโยชน์อย่างไร แต่เชื่อว่าแนวทางนี้จะได้ประโยชน์แก่ผู้ประกอบการน้อย เพราะต้นทุนส่วนใหญ่ของกลุ่มเอสเอ็มอีอยู่ที่ราคาสินค้าวัตถุดิบ การผลิต แต่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าเหล่านี้ได้ ที่สำคัญผู้ประกอบการกลุ่มนี้ต้องกู้เงินลงทุนในอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการช่วยเหลือจริง ควรหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ซึ่งมั่นใจว่าเป็นแนวทางที่ดีกว่าการลดเงินสมทบประกันสังคมแน่นอน

ขณะที่ ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เสนอแนะว่า หากบอร์ด สปส.มีมติยืนตามที่คณะทำงานพิจารณาลดผลกระทบอนุมัตินั้น รัฐบาลต้องหามาตรการรองรับเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนในระยะยาว โดยให้รัฐบาลเพิ่มอัตราเงินสมทบจากปัจจุบันจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม ร้อยละ 2.75 เป็นจ่าย ร้อยละ 4 ในปี 2556 และปี 2557

รัฐบาลจะให้ความสนใจกับคำท้วงติงและข้อเสนอเหล่านี้หรือไม่? เพราะมาตรการลดการเก็บเงินสมทบประกันสังคม ถือเป็น "นโยบายประชานิยม" ที่ถูกใจกลุ่มผู้ประกอบการอย่างมากแต่อย่าลืมว่า เมื่อต้นปี 2555 รัฐบาลได้ให้ สปส.ใช้มาตรการลดการเก็บเงินสมทบเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบมหาอุทกภัยในปลายปี 2554 ในระยะ 1 ปี โดยครึ่งปีแรก เก็บเพียงฝ่ายละร้อยละ 3 และครึ่งปีหลังเก็บฝ่ายละร้อยละ 4 มาแล้วรอบหนึ่ง ครั้งนั้นทำให้ตลอดทั้งปีเม็ดเงินในกองทุนประกันสังคมหายไปราว 30,000 ล้านบาทเศษ และล่าสุดในการประชุมบอร์ด สปส.เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมก็ได้เห็นชอบให้ขยายเวลามาตรการดังกล่าวคือ เก็บเงินสมทบฝ่ายละร้อยละ 4 ออกไปอีก 1 ปี ขณะที่รัฐบาลยังจ่ายสมทบเท่าเดิมร้อยละ 2.75 ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 และการขยายมาตรการนี้คาดว่าจะทำให้เม็ดเงินในกองทุนประกันสังคมที่คาดว่าควรเก็บได้ 60,000 ล้านบาท ต้องหายไปอีก 40,000 ล้านบาท

ดังนั้น...มาติดตามกันว่า มติบอร์ด สปส.ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ จะมีข้อสรุปแบบถูกใจ "นายจ้าง" หรือถูกใจ "ลูกจ้าง"

ผู้เขียน : น.รินี เรืองหนู   norrinee@gmail.com

--มติชน ฉบับวันที่ 15 ธ.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--