ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ภายหลังจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 55 เรื่องขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติและการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานต่างด้าว ซึ่งกำหนดว่าแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่และทำงานในประเทศไทย จะต้องดำเนินการพิสูจน์สัญชาติและปรับสถานะเป็นแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมายให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 14 ธ.ค. 55 ดังนั้นหากแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันไม่สามารถดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จสิ้นได้ทันวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็จะต้องถูกผลักดันส่งกลับต่อไป

จากข้อมูลการสำรวจตัวเลขของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า คิดเป็นประมาณ 80% ของแรงงานข้ามชาติทั้ง 3 สัญชาติน่าจะมีประมาณ 1,600,000 คน แต่ตัวเลขอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ต.ค. 55 ระบุมีแรงงานข้ามชาติจากพม่าทั้งสิ้น 714,397 คน ทำให้เห็นว่ายังมีแรงงานข้ามชาติจากพม่า ที่หลุดจากระบบไปกว่า 8 แสนคน

นอกจากนี้เมื่อสำรวจข้อมูลในเรื่องการเข้าถึงกระบวนการ พิสูจน์สัญชาติ แรงงานข้ามชาติจากพม่า ซึ่งได้ดำเนินการเก็บข้อมูลในพื้นที่ที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ, สมุทรสาคร สมุทรปราการ, แม่สอด จ.ตาก เพื่อสำรวจถึงการเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ในกลุ่มที่เคยยื่นขอพิสูจน์สัญชาติแล้ว พบว่ามีแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเพียง 25% เท่านั้น

ส่วนที่เหลือจะแยกเป็นกลุ่มแรงงานที่ยื่นขอพิสูจน์สัญชาติไปแล้วแต่ยังไม่ผ่าน และอยู่ในระหว่างการนัดหมายให้ดำเนินการ 11%, กลุ่มที่ยื่นดำเนินการไปแล้ว ยังไม่ผ่านและยังไม่ได้รับการติดต่อดำเนินการใด ๆ เลย 19%, ขณะเดียวกันก็พบว่ามีแรงงานอีก 45% ที่เคยยื่นดำเนินการไปแล้วประสบกับปัญหาในด้านต่าง ๆ เช่น เอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วนทำให้ต้องดำเนินการหาเอกสารให้ครบถ้วนหรือกรอกข้อมูลใหม่ และยื่นเอกสารใหม่อีกครั้ง

หากสอบถามเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ พบว่าส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารประจำตัว (ทร.38/1)เลยไม่สามารถไปพิสูจน์ได้ 43.6%, ในขณะที่ 18% มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ, มีแรงงาน 15.7% ที่นายจ้างไม่ยอมดำเนินการให้ และ 15.7% ที่นายจ้างในเอกสารไม่ตรงกับนายจ้างที่จ้างงานจริง, 5.2% ยังไม่เข้าใจขั้นตอน และอีก 1.8% ที่ระบุว่าช่วงเวลาในการพิสูจน์สัญชาติ ไม่สอดคล้องกับช่วงการทำงานของตนเอง

จากข้อมูลเบื้องต้นทำให้พบว่าในพื้นที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ยังมีแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติอีกจำนวนไม่น้อย ทั้งนี้มีหลากหลายสาเหตุด้วยกัน สาเหตุหลักที่พบหรือแรงงานส่วนใหญ่ที่สำรวจไม่มีเอกสารประจำตัวอะไรเลย แต่ทำงานอยู่ในพื้นที่ เหตุผลประการต่อมาที่เจอในกลุ่มแรงงานก็คือ เอกสารที่แรงงานใช้ในการทำงานและนายจ้างที่จ้างงานอยู่จริงไม่ตรงกัน ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้แรงงานจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ เมื่อหมดเขตผ่อนผันวันที่ 14 ธ.ค. 55 จึงต้องกลายเป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายในอนาคต

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา สมาชิกเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ  (เอเอ็นเอ็ม) และองค์กรพันธมิตร  5 องค์กร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า ลาว มอญและกัมพูชาประมาณ  200 คน นำโดย นายบัณฑิต แป้นวิเศษ ผู้ประสานงานคณะทำงานจัดงานวันแรงงานข้ามชาติสากล มารวมตัวชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้กฎหมายประกันสังคมเพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วมีสิทธิเข้าถึงประกันสังคมอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ยังอยากให้รัฐบาลทบทวน นโยบายส่งกลับแรงงานข้ามชาติ หลังวันที่ 14 ธ.ค.2555  เนื่องจากจะมีแรงงานข้ามชาติที่ต้องถูกผลักดันส่งกลับประเทศ เพราะไม่สามารถขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติได้ทันตามกำหนด รวมทั้งขอให้รัฐบาลไทยแก้ไขคุ้มครองแรงงาน ให้เพิ่มการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทยที่มีอาชีพทำงานตามบ้าน และงานประมง เนื่องจากแรงงานเหล่านี้เป็นงานที่ต้องทำงานหนัก มีชั่วโมงการทำงานยาวนานและเป็นงานสกปรก

ขณะที่ นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วย รมว.แรงงาน ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาให้กับแรงงานข้ามชาติ ขอฝากไปบอกเพื่อนหรือญาติที่อยู่ลาว พม่า และกัมพูชาว่าถ้าอยากมาทำงานในไทย และยังไม่ได้เดินทางมา ขอความกรุณาให้มาถูกต้องตามกฎหมาย เพราะถ้าหากหลบหนีเข้ามาจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย ซึ่งทาง รมว.แรงงาน ได้พยายามหาวิถีทางอำนวยความสะดวกเพื่อเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย พร้อมทั้งจะให้สิทธิประโยชน์เท่ากันกับแรงงานไทย แต่อาจมีกฎหมายบางฉบับที่อาจมีข้อจำกัดบ้าง ต้องอาศัยเครือข่ายต่าง ๆ เข้ามาช่วยนำเสนอปัญหาและร่วมกันแก้ไขปัญหา ให้ดีที่สุดเพื่อรับการเปิดประเทศประชาคมอาเซียน

แนะร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน

นายอดิศร เกิดมงคล เจ้าหน้าที่ข้อมูล เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาการพิสูจน์สัญชาติว่า รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนกระบวนการพิสูจน์สัญชาติให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับข้อจำกัดของแรงงานข้ามชาติในเรื่องเหล่านี้ ที่สำคัญคือควรมีการขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติออกไปอีกระยะหนึ่ง หากเป็นไปได้ควรเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติได้ดำเนินการยื่นพิสูจน์สัญชาติด้วยตนเองในศูนย์พิสูจน์สัญชาติที่มีอยู่ โดยมีการอำนวยความสะดวกในเรื่องการสื่อสารเพื่อเอื้อต่อการใช้บริการเพราะส่วนหนึ่งไม่มีเอกสารแสดงตน และควรจะเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติในกลุ่มที่ยังไม่มีเอกสารใด ๆ อีกครั้ง

โดยพิจารณาควบคู่กับการอนุญาตทำงานในรูปแบบอื่นที่หลากหลาย และแสวงหาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการจ้างแรงงานอย่างจริงจัง ป้องกันปัญหาการจ้างแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบแบบเดิม คือจะมีการจ้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่ถูกกฎหมายเป็นจำนวนมาก อนาคตก็จะส่งผลให้เกิดผลกระทบด้านต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย ดังนั้นรัฐบาลไทยและประเทศต้นทางจึงจำเป็นจะต้องมีการทบทวนมาตรการ รวมทั้งร่วมกันศึกษาและพัฒนาถึงกระบวนการจ้างแรงงานข้ามชาติที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 18 ธันวาคม 2555