ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สปส.เร่งเพิ่มยอดผู้ประกันตน ปี 2556 ตั้งเป้าดึง "แรงงานนอกระบบ" เข้า ม.40 ให้ได้ 2 แสนคน "เผดิมชัย" เผยตั้งที่ปรึกษาคุมการทำงานให้ได้ประโยชน์สูงสุด

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปี 2556 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2535 เพื่อขยายประกันสังคม มาตรา 40 ไปสู่แรงงานนอกระบบมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนทั้งในส่วนของมาตรา 33, 39 และ 40 ซึ่งเป็นนโยบายเดิมที่ต้องการสานต่อ เช่น การให้ทุนผลิตแพทย์ พยาบาล การตั้งศูนย์ฟอกไตในโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม การสร้างบ้านพักผู้สูงอายุให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ฯลฯ

ขณะนี้ได้ตั้งทีมที่ปรึกษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงาน รวมทั้งตรวจสอบลักษณะการดำเนินการโครงการต่างๆ ของ สปส.ว่ามีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกันตนมากน้อยเพียงใด

วันเดียวกัน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวหลังการเป็นประธานเปิดโครงการอบรมพัฒนาสมรรถนะแกนนำเครือข่ายประกันสังคมและเจ้าหน้าที่ประกันสังคม เพื่อขยายประกันสังคมมาตรา 40 ในเขตกรุงเทพมหานคร ว่า ในปี 2556 สปส.มีเป้าหมายจะเพิ่มผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ค้า ฯลฯ ให้ได้อีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน จากปัจจุบันที่มีอยู่จำนวนกว่า 1.2 ล้านคน รวมเป็นกว่า 1.4 ล้านคน โดยได้ให้แกนนำเครือข่ายประกันสังคมและเจ้าหน้าที่ของ สปส.ร่วมกันประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้แรงงานนอกระบบเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้ได้มากที่สุด

ด้านนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสปส. กล่าวว่า ขณะนี้ สปส.ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 กว่า 400 ล้านบาท โดยรัฐบาลทยอยจ่ายให้แก่ สปส. ซึ่งปัจจุบันได้รับงบมาแล้วประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2556 สปส.ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้ประกันตนมาตรา 40 ทั้งหมดประมาณกว่า 1.4 ล้านคน โดยขณะนี้ สปส.อยู่ระหว่างการศึกษาการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีการเสียชีวิตของผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 20,000 บาท โดยผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน

"นอกจากนี้ สปส.กำลังศึกษาการขยายอายุแรงงานนอกระบบที่จะเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 60 ปี แต่หากขยายอายุเกินกว่า 60 ปี จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมระยะยาว เนื่องจากผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง จะทำให้กองทุนประกันสังคมต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตออกไปจำนวนมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาให้รอบคอบ โดยจะใช้เวลาศึกษา 6 เดือน และคาดว่าจะได้ข้อสรุปช่วงกลางปีหน้า" นายจีรศักดิ์กล่าว

ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 25 ธันวาคม 2555