ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ประธานชมรมแพทย์ชนบท ชูตัวอย่างงบ'ดีพีแอล' ทำงานล่าช้า ส่งผล รพ. ลดสเปก-ซื้อของแพง เผยเตรียมประชุมวิชาการ รพช.ทั่วประเทศ ถกปัญหาสารพัด เน้นค่าตอบแทน 24 มกราคม

เมื่อวันที่ 17 มกราคม นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทเปิดเผยกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตามโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 หรือโครงการเงินกู้ดีพีแอล (DPL) งบประมาณ 3,426 ล้านบาท โดย สธ.กลับไปทบทวนใหม่เหลือจำนวน 3,273 ล้านบาท ว่า เรื่องนี้ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จตั้งแต่กลางปี 2555 เนื่องจากมีการสั่งทบทวนงบประมาณมาเป็นเวลานาน แต่ สธ. กลับล่าช้า ส่งผลให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งอาจจัดซื้อครุภัณฑ์ที่มีราคาแพงขึ้น เนื่องจากเมื่อเวลาล่วงเลย กลไกของราคาเครื่องมือต่างๆ สูงตามไปด้วย รวมถึงอาจไม่ได้สเปกตามที่กำหนด

นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เป็นตัวอย่างชัดเจน เนื่องจากก่อนหน้านี้เตรียมประกวดราคา และตั้งงบไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อล่าช้า ราคาที่เคยกำหนดไว้ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป มีราคาที่สูงขึ้น ส่วนที่เคยตกลงในการขอลดราคา หรือของแถมต่างๆ ก็ไม่มีด้วย ยกตัวอย่าง ครุภัณฑ์ 3 รายการที่เห็นชัดเจน คือ 1.เครื่องปั่นไฟ ก่อนหน้านั้นตกลงราคากับบริษัทในการจัดซื้อจัดจ้างที่เครื่องละ 1.7 ล้านบาทสำหรับขนาด 100 กิโลวัตต์ และ 3 ล้านบาทสำหรับขนาด 300 กิโลวัตต์ แต่เมื่อเสนอของบช้า ทำให้ปัจจุบันราคาสูงขึ้นอีกร้อยละ 10 2.ตู้อบทารก ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตเด็กทารกแรกเกิด เดิมกำหนดราคาประมาณ 3.1 แสนบาท ปัจจุบันพุ่งเป็น 3.7-4 แสนบาท และ 3.เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า เดิมมีราคา 2.8 แสนบาท ปัจจุบันขึ้นเป็น 3.5 แสนบาท ซึ่งเมื่อได้รับงบประมาณมาก็ต้องจัดสรรให้ได้ โดยอาจต้องเลี่ยงไปจัดซื้อกับทางบริษัทของอินเดีย และอาจต้องลดสเปกลง หรือหากจะได้ตามเดิมอาจต้องขอเงินบริจาคเข้าโรงพยาบาลแทน

ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงการประชุมวิชาการโรงพยาบาลชุมชนประจำปี 2555 ว่า จะมีการหารือถึงปัญหาของโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะการหารือเรื่องค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ ที่ปัจจุบันหลายคนมองว่าแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดเล็กกลับได้รับเงินค่าตอบแทนสูง บางคนได้เงินเดือนสูงถึง 70,000 บาท ไม่เป็นธรรมกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ แพทย์ที่ได้ค่าตอบแทนสูงมีไม่ถึง 6 คนด้วยซ้ำ ที่สำคัญคนกลุ่มนี้ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และต้องทำงานนานกว่า 20 ปี ซึ่งตรงนี้เป็นการเสียสละ แต่ด้วยความไม่เข้าใจทำให้ถูกมองว่า แพทย์โรงพยาบาลเล็กรับเงินเดือนมากกว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทำให้มีกระแสข่าวว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเงินค่าตอบแทนเกิดขึ้น ดังนั้น ในการ ประชุมวันที่ 24 มกราคมนี้ จะมีการหารือถึงการ เตรียมความพร้อมในกรณีที่หากมีการปรับเปลี่ยนค่าตอบแทนจริง จะส่งผลอย่างไร และโรงพยาบาลชุมชนจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 18 มกราคม 2556