ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 30 ม.ค. 2556 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555 โดยในปีนี้ มีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลจำนวน 2 ราย จากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งสิ้น 75 ราย 34 ประเทศ ได้แก่ มร.เซอร์ ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์ จากสหราชอาณาจักร ประธานสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ ศาสตราจารย์ กิติศักดิ์ วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน นายกราชแพทยสมาคมแห่งสหราชอาณาจักร ขณะที่รางวัลเจ้าฟ้ามหิดลสาขา การสาธารณสุข ได้แก่ ดร.อูเซ เวโรนิกา อะมาซิโก จากประเทศไนจีเรีย อดีตผู้อำนวยการโครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิในทวีปแอฟริกา หรือองค์การอนามัยโลก

ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสในโอกาสเสด็จฯ แทนพระองค์ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2555 ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2555 ในวันนี้ ขอบใจคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ได้ดำเนินการต่าง ๆ ด้วยดีตลอดมา ในการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก งานด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เป็นงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ แต่การพัฒนางานดังกล่าวให้ได้ผลสมบูรณ์ที่แท้จริงนั้น จะต้องอาศัยการปรับปรุงและวิธีการบริหารจัดการ รวมทั้งระบบการบริการให้เหมาะสมถูกต้องและมีประสิทธิภาพด้วย

ผลงานของ มร.เซอร์ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์ และ ดร.อูเซ เวโรนิกา อะมาซิโก นับว่ามีคุณูปการอย่างสูง แก้การพัฒนางานด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ตลอดจนอำนวยประโยชน์กว้างขวาง ทั้งแก่ผู้บริหารทางการแพทย์และผู้บริการดังเป็นที่ประจักษ์ว่า สถาบันเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ของ มร.เซอร์ ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์ ช่วยให้ผู้ประกอบการทางการแพทย์สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ป่วยก็ได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ส่วนผลงานการพัฒนาชุมชนในทวีปแอฟริกาให้เป็นชุมชนที่สามารถกำหนดการรักษาของ ดร.อูเซ เวโรนิกา อะมาซิโก ก็ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับบุคลากรด้านสาธารณสุข ในการดูแลรักษาสุขภาพของคนในชุมชน ส่งผลให้การควบคุมโรคต่าง ๆ ได้รับผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ผลงานของท่านทั้งเป็นต้นแบบของการพัฒนาวิธีการบริหารจัดการ และระบบการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ให้ประชาชนทั่วโลกได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ข้าพเจ้าขอแสดงความนิยม ยกย่องอย่างจริงใจ และขอแสดงความยินดีกับท่านทั้งสอง ที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปีนี้ด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 31 มกราคม 2556