ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แก้หลักเกณฑ์เข้าประเทศไทยใหม่ สำหรับ 6 ชาติอาหรับ เข้ารับบริการด้านสุขภาพในประเทศไทย ไม่ต้องทำวีซ่า ให้อยู่ได้ไม่เกิน 90 วัน หนุนนโยบายเมดิคัลฮับมีผล 22 กุมภาพันธ์

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการเดินหน้านโยบายเมดิคัลฮับ (Medical Hub) ของประเทศไทยเป็นเลิศในผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล ว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับความนิยมและความเชื่อมั่นจากชาวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทย เพื่อรับบริการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลไทย มีนโยบายอำนวยความสะดวกให้ต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลในประเทศไทยให้ราบรื่นขึ้น คณะรัฐมนตรี (สธ.) ได้มอบให้ สธ. กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันพิจารณาแก้ไข กำหนดหลักเกณฑ์การเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทยสำหรับบุคคลต่างชาติ ที่ต้องการจะเดินทางเข้ามาเพื่อรับบริการด้านสุขภาพ

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ล่าสุด ได้ปรับแก้ หลักเกณฑ์ให้ชาวต่างชาติพร้อมผู้ติดตามจำนวนไม่เกิน 4 คน จาก 6 ประเทศกลุ่มอ่าวอาหรับหรือจีซีซี (GCC : Gulf cooperation Council) ได้แก่ บาห์เรน คูเวต รัฐสุลต่านโอมาน รัฐกาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเดินทางเข้ามารับบริการ จะได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราหรือวีซ่า และให้พำนักในราชอาณาจักรไทยได้ไม่เกิน 90 วัน โดยต้องมีเอกสารการนัดหมายจากสถานพยาบาล เอกสารรับรองทางการเงิน และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาแสดงด้วย

ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะประกาศมาตรการนี้และยุทธศาสตร์เมดิคัลฮับของประเทศไทยให้ทั่วโลกรับทราบในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ คาดว่าการพัฒนาตามแนวทางใหม่นี้จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในเวทีโลก ทำให้มีการขยายตัวของการใช้บริการสุขภาพ สร้างรายได้ประเทศมากขึ้น และวางแผนจะขยายมาตรการนี้แก่ประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น กลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ สแกนดิเนเวีย ญี่ปุ่น รัสเซีย จีน และเสนอจัดระบบประกันสุขภาพก่อนเข้าไทยด้วย เช่นเดียวกับที่คนไทยเดินทางไปต่างประเทศ

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในปี 2555 พบว่าประสบผลสำเร็จอย่างดี  มีชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลที่ประเทศไทย 2 ล้านกว่าครั้ง ร้อยละ 60 เป็นนักท่องเที่ยวและชาว ต่างชาติที่เดินทางมาเพื่อรักษาตัวโดยตรง มีรายได้สู่ประเทศ 121,658 ล้านบาท บริการที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ ตรวจสุขภาพ ร้อยละ 18 รองลงมาคือศัลยกรรมความงามร้อยละ 14 ทันตกรรมร้อยละ 11 ศัลยกรรมกระดูกร้อยละ 10 และผ่าตัดหัวใจร้อยละ 7 โดยขณะนี้ไทยมีสถานพยาบาลที่มีศักยภาพ เป็นที่เชื่อมั่นยอมรับของต่างชาติ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานนานาชาติจากสหรัฐอเมริการวมทั้งหมด 24 แห่ง และผ่านมาตรฐานการดูแลสุขภาพในระดับโปรแกรมเฉพาะทางอีก 11 แห่ง เช่น โรคหัวใจ มะเร็งเต้านม โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556