ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กรณีความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการทางการแพทย์ ที่ไม่ลงตัวในเรื่องการรับค่าเสียหาย และปัญหาการฟ้องร้องของแพทย์และคนไข้ จนมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ... ตั้งแต่ปี 2549 และได้เข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ถูกตีกลับให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดร่างฯอีกครั้ง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยสธ. กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายว่า ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพื่อหาข้อสรุปในการจัดทำเนื้อหาสาระของกฎหมายดังกล่าวโดยสรุปมีมติร่วมใน 9 ประเด็น คือ 1.ต้องพัฒนาระบบบริการให้มีมาตรฐาน 2.มีระบบเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบริการให้ครอบคลุมทุกฝ่าย3.พัฒนาระบบผู้ให้บริการทั้งทางแพ่งและอาญาเพื่อประโยชน์ทุกฝ่าย โดยการรักษาต้องได้มาตรฐานและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ 4.พัฒนาและสนับสนุนระบบการสร้างความสัมพันธ์อันดี

ในระบบสาธารณสุข 5.ให้มีระบบการเงินการคลังที่มีประสิทธิภาพ 6.ให้มีระบบการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ 7.ให้มีคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าใจในมาตรฐานการรักษาทุกระดับ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค 8.ให้มีหน่วยงานที่ดำเนินการในกระทรวงสาธารณสุข และ 9.ให้มีการวิเคราะห์ปัญหาว่ามีสาเหตุจากอะไร และสามารถตรวจสอบได้จริง ภายใน 2 เดือนจะมีความชัดเจนขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556