ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.)ในฐานะโฆษก สปส. กล่าวถึงการใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตนกรณีคลอดบุตร ในปี 2555 ว่า มีผู้ประกันตนมาใช้สิทธิคลอดบุตรจำนวน 300,075 ราย แบ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 246,566 ราย คิดเป็นร้อยละ 82.17 ของผู้ประกันตนที่ใช้สิทธิกรณีคลอดบุตร และจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกว่า 5,598 ล้านบาท และเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 53,509 ราย คิดเป็นร้อยละ 17.83 ของผู้ประกันตนที่ใช้สิทธิกรณีคลอดบุตร และจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกว่า 1,028 ล้านบาท ทั้งนี้ รวมแล้ว สปส. จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรทั้งสิ้นกว่า 6,627 ล้านบาท

นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า ผู้ประกันตนมีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรได้เมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 7 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร จึงมีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรได้ในอัตรา 13,000 บาทต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง โดยผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน และกรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรรวมกันได้ไม่เกิน 4 ครั้ง โดยแต่ละคนมีสิทธิเบิกได้คนละ 2 ครั้ง

กรณีเงินสงเคราะห์บุตรนั้น ผู้ประกันตนที่มีสิทธิเบิกเงินจะต้องจ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนเดือนที่มีสิทธิ โดยเบิกได้ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์ เบิกได้มากสุดคราวละ 2 คนเป็นเงินคนละ 400 บาทต่อเดือนโดยสปส.จะโอนเข้าบัญชีจนกว่าบุตรอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ ซึ่งในปี 2555 มีผู้ประกันตนมาตรา 33 และ39 มายื่นขอเบิกเงินประโยชน์ทดแทนสงเคราะห์บุตร 1,297,860 คน รวมเป็นเงินกว่า 6,720 ล้านบาท

--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 21 มี.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--