ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หมอประดิษฐค่อยๆ รื้อระบบการเงิน สธ.และองค์กร "ตระกูล ส." ล่าสุดเตรียมขอมติบอร์ด สปสช. ใช้เงินกองทุนเหมาจ่ายรายหัว 30 บาท มาจ่ายเป็นเงินเดือนบุคลากรเต็ม 100% จากเดิมที่ใช้เงิน สปสช. 60% ส่วนอีก 40% ใช้เงิน สธ.สมทบ ส่งผลให้กองทุน 30 บาท ต้องควักเนื้อเพิ่มอีกปีละ 2 หมื่นล้าน อ้างเพื่อให้เห็นภาพระบบการใช้เงินที่ชัดเจน ขณะเดียวกันไม่หวั่นแพทย์ชนบทชุมนุมใส่ชุดดำขับไล่ทุกวันอังคาร

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เตรียมขอมติที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าเรื่องการจ่ายเงินเดือนข้าราชการในระบบ สปสช. ที่เดิมใช้งบจากกองทุน สปสช. 60% และใช้เงินงบประมาณของ สธ. มาสมทบอีก 40% มาเป็นการใช้งบประมาณจาก สปสช.เต็ม 100% ทั้งนี้ เพื่อจะทำให้เห็นต้นทุนการใช้เงินสำหรับบุคลากรอย่างแท้จริง และไม่เกิดความแตกต่างระหว่างค่าตอบแทนสำหรับข้าราชการ และค่าตอบแทนสำหรับพนักงานของ สธ.

ส่วนคำถามที่ว่า การดำเนินการดังกล่าวจะกระทบต่อฐานะของกองทุนบัตรทองหรือไม่ นพ.ประ ดิษฐยืนยันว่าไม่เกี่ยว พร้อมยกตัวอย่างสมมติว่า สปสช.ของบจากสำนักงบประมาณไป 2,900 บาท มีเงินที่โอนมาจาก สธ.อีกหัวละ 200 บาท เท่ากับว่าบัตรทองก็จะได้ค่าหัวเป็น 3,100 บาท การทำระบบใหม่ก็เพื่อให้เกิดความมั่นคง ไม่เช่นนั้นจะมีพนักงานกระทรวง สธ.หรือลูกจ้างชั่วคราวทุกๆ 5 ปี มาขอเปลี่ยนเป็นข้าราชการ ซึ่งจะกินเงินรัฐบาลต่อไปเรื่อยๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งบเหมาจ่ายรายหัวปี 2557 ที่ สปสช.ขออนุมัติจาก ครม. มีวงเงินทั้งสิ้น 156,766 ล้านบาท หรือเฉลี่ยหัวละ 2,955 บาท งบดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.เงินเดือนแพทย์ พยาบาล 3 หมื่นล้านบาท 2.เงินค่าบริการ ซึ่งจ่ายตรงให้กับหน่วยบริการเพื่อรักษาพยาบาลและส่งเสริมป้องกันโรค 1.2 แสนล้านบาท สำหรับงบประมาณที่จ่ายให้กับเงินเดือนแพทย์ พยาบาล เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 5 หมื่นล้านบาท หรือตามระบบเดิม สปสช.มีรายจ่ายส่วนนี้ 60% หรือ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากเปลี่ยนมาเป็นจ่ายเต็ม 100% ก็เท่ากับ สปสช.ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกปีละ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นเงินเดือนของแพทย์และบุคลากร

นพ.ประดิษฐเปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มแพทย์ชนบทแสดงความไม่พอใจกรณีที่ สธ.ปรับวิธีการจ่ายเงินค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือ  P4P จนนัดกันชุมนุมหน้าทำเนียบฯ ทุกวันอังคาร จนกว่านายกรัฐมนตรีจะปลด นพ.ประดิษฐจาก รมว.สธ. ว่า ในการทำงานของแพทย์ชนบทนั้น ถ้าทุกวิชาชีพได้รับฟังคำชี้แจงแล้วน่าจะเข้าใจและเคารพในเหตุผล ส่วนการที่จะมาชุมนุมนั้นถ้าทำถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ทิ้งงานมา แต่ถ้าทิ้งงานมาก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง มีการลาในระบบของแพทย์เพื่อให้มีการจัดหาคนมาทำงานแทน เพื่อไม่ให้กระทบกับการให้บริการประชาชนในพื้นที่ ก็ถือเป็นเรื่องของชมรมแพทย์ชนบทที่จะทำ เช่นเดียวกับกลุ่มพยาบาลที่จะมีระเบียบแบบเดียวกัน ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ทิ้งงาน ส่วนจะถือเป็นการกดดันหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาพการชุมนุม

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 22 มีนาคม 2556