ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

'นพ.ประดิษฐ'เรียกประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ หารือปรับสัดส่วนจ่ายเงินเดือนข้าราชการ สธ.ทั้งระบบ เปลี่ยนใหม่ให้ สปสช.รับผิดชอบกว่า 60,000 ล้าน ย้ำไม่ส่งผลงบเหมาจ่ายรายหัว

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในวันที่ 25 มีนาคม ซึ่งจะมีการพิจารณาเรื่อง "ข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีเงินเดือน และค่าจ้างประจำของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข" ว่า เดิมทีการจ่ายเงินเดือนให้บุคลากรในสังกัด สธ. จะแบ่งสัดส่วนการจ่ายระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในสัดส่วนร้อยละ 60 และ สธ.สมทบอีกร้อยละ 40 แต่รูปแบบใหม่จะโอนสัดส่วนของ สธ. มาให้ สปสช.รับผิดชอบเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายสะดวกขึ้น เนื่องจากทุกๆ ปี สธ.จะของบประมาณผ่านระเบียบของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีกติกายุ่งยากและไม่คล่องตัว แต่การปรับเปลี่ยนใหม่จะลดอุปสรรคเหล่านี้ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การมอบให้ สปสช.รับผิดชอบเงินเดือนทั้งหมดจะมีผลให้งบเหมาจ่ายรายหัวลดลงหรือไม่ นพ.ประดิษฐกล่าวว่า คนละส่วนกัน เพราะเป็นการโอนเงินจาก สธ.มาให้ สปสช.รับผิดชอบแทน ซึ่งเป็นการบวกเพิ่มจากงบเหมาจ่ายรายหัวที่ขอทุกๆ ปี อย่างในปี 2557 สปสช.จะเสนอของบเหมาจ่ายรายหัวจากสำนักงบประมาณจำนวน 2,955.91 บาทต่อหัว ส่วนเงินร้อยละ 40 ที่โอนมาจาก สธ. หากคำนวณแล้วตกหัวละ 200 บาท ก็บวกเพิ่มเข้าไปเป็น 3,155.91 บาทต่อหัว จึงเท่ากับว่างบฯของ สปสช.ไม่ได้หายไปไหน นอกจากนี้ ในส่วนของค่าตอบแทนตามภาระงานหรือพีฟอร์พี (P4P : Pay for Performance) ที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ คาดว่า จะใช้งบฯเพิ่มอีกกว่า 3,000 ล้านบาทนั้น งบฯก้อนนี้จะขอเพิ่มโดยจะผ่าน สปสช. เป็นผู้เสนอเรื่อง ซึ่งคำนวณแล้วอาจตกหัวละ 60-75 บาทต่อคนต่อปี โดย สปสช.จะตั้งงบฯดังกล่าวเพิ่มจากงบฯเหมาจ่ายรายหัวทุกปี ทำให้ระบบมีความยั่งยืนขึ้น

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เบื้องต้นเตรียมเสนอของบฯเหมาจ่ายรายหัวในปี 2557 เพิ่มอีกกว่า 10,000 ล้านบาท จึงไม่กระทบต่องบฯกองทุนฯแต่อย่างใด

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. เบื้องต้นจะมีการเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2557 เป็นเงินรวม 188,018.20 ล้านบาท โดยแยกเป็นเงินเดือนของหน่วยบริการภาครัฐทั้งสิ้น 63,014.37 ล้านบาท ซึ่งจะเหลืองบกองทุนฯ จำนวน 125,003.83 ล้านบาท ส่วนงบฯพีฟอร์พีที่จะขอเพิ่ม 3,000 ล้านบาทนั้นจะแยกขออีกรายการ ซึ่งหากการปรับรูปแบบการจ่ายเงินเดือนใหม่เป็นไปตามข้อเสนอจริง โดยแยกสัดส่วนชัดเจนก็จะไม่มีผลใดๆ แต่หากนำเงินเดือนมารวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวก็จะส่งผลต่อโรงพยาบาลทันที เนื่องจากจะได้รับเงินน้อยลง ยิ่งในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีบุคลากร สธ.มากก็จะส่งผลมาก เพราะจะต้องกระจายบุคลากรที่ล้นเกินไปยังโรงพยาบาลที่ขาดแคลน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 25 มีนาคม 2556