ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงแนวคิดการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า สธ.ได้มีการศึกษาในเรื่องนี้มานานแล้ว โดยสืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงระบบประกันสุขภาพเมื่อ 10 ปีก่อน ทำให้เกิดมีวิวัฒนาการด้านระบบบริการสุขภาพ แต่ปัญหาคือ บทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน มีทั้งทับซ้อนกันหรือขาดหายไป เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อบริการ ส่วน สธ.เป็นผู้จัดบริการและดูแลกำหนดด้านมาตรฐาน แต่ยังไม่มีใครทำหน้าที่กำหนดทิศทางสุขภาพของประเทศอย่างชัดเจน ซึ่ง สธ.เองไม่พร้อมทำเรื่องนี้ เพราะอาจจะมีความขัดแย้งในบทบาทของตนเอง เพราะเป็นผู้ให้บริการด้วย จึงมีแนวคิดจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายสุขภาพของประเทศ ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล

กรณีมีความเข้าใจว่า สธ.ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาคุมองค์กรด้านสุขภาพอื่นนั้น นพ.ประดิษฐกล่าวยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะคณะกรรมการชุดนี้อยู่เหนืออำนาจหน้าที่ สธ. ส่วนที่มีผู้สงสัยว่าเหตุใดจึงไม่มีภาคประชาชนในคณะกรรมการ ขอชี้แจงว่า คณะกรรมการดังกล่าวเป็นการบริหารเชิงนโยบาย ซึ่งในคณะกรรมการชุดต่างๆ ด้านสุขภาพ เช่น สปสช. ก็มีภาคประชาชนอยู่ในทุกชุดอยู่แล้ว ถือว่ามีการกรองมาชั้นหนึ่งแล้ว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 27 มีนาคม 2556