ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

แม้ว่าการต่อสู้ระหว่างกลุ่มแพทย์ชนบทและนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆถึงขั้นหมอชนบทแสดง"อารยะขัดขืน"ด้วยการฉีกประกาศการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) รวมทั้งเข้ายื่นหนังสือถึงพรรคเพื่อไทยให้ปลดออกจากรัฐมนตรีแต่จับสัญญาณแล้วเก้าอี้ของหมอประดิษฐ ยังไม่สั่นคลอนง่ายๆ

ย้อนดูที่มาก่อนจะมานั่งเก้าอี้ รมว.สาธารณสุข หมอประดิษฐไม่ใช่หมอธรรมดา แม้คำนำหน้านามจะมีคำว่า "นายแพทย์"แต่หลังจบการคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เมื่อปี2527 ก็ใช้เวลาทำงานในฐานะแพทย์ประจำโรงพยาบาลธัญญารักษ์เพียงสั้นๆ เท่านั้น ด้วยเจ้าตัวหลงใหลกลิ่นอายธุรกิจมากกว่าเสื้อกาวน์

จึงผันตัวไปจับทำธุรกิจตกแต่งภายใน กระทั่งลาออกไปเป็นนักธุรกิจเต็มตัวและประสบความสำเร็จภายใต้อาณาจักร "เดคคอร์มาร์ท" หนึ่งในหุ้นส่วนทางธุรกิจของเขา คือเศรษฐา ทวีสินกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแสนสิริ ผู้ที่ใครก็รู้ว่า สนิทชิดเชื้อกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แค่ไหนหมอประดิษฐเริ่มเข้ามาชิมลางการเมืองในฐานะบอร์ดหน่วยงานรัฐ เช่น กรรมการการบินไทย กรรมการการแพทย์ กรรมการกองทุนประกันสังคมและกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

จนในที่สุดก็ได้รับความไว้วางใจให้มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีสาธารณสุข แทนที่ วิทยา บุรณศิริ ใน "ครม.ยิ่งลักษณ์ 3"โดยไม่มีใครคาดเดาได้ล่วงหน้า ภารกิจหลักหลังเข้ารับตำแหน่งหมอประดิษฐลุยปฏิรูปโครงสร้างกระทรวง ตั้งเป้าหมายลดงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศ รวมทั้งรื้อหน่วยงานในสังกัด สธ.เสียใหม่ เพื่อความคล่องตัวในการบริการจัดการภายใน

ช่วงเวลาเกือบ 6 เดือน ตั้งแต่ นพ.ประดิษฐเป็นรัฐมนตรี เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นใน สธ.พอควร เริ่มตั้งแต่ความพยายามปรับขึ้นค่าบริการสาธารณสุข แต่สุดท้ายก็ต้องยุติไป เพราะถูกกรมบัญชีกลางยื่นหนังสือทักท้วง

รวมทั้งพยายามจัดโครงสร้างกรม กอง และองค์กรอิสระในสังกัด สธ. ส่งคนฝ่ายการเมืองเข้าไปเป็นบอร์ด ไปเป็นผู้บริหารหน่วยงาน และที่กำลังถูกต่อต้านอย่างหนักก็คือการประกาศเปลี่ยนการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายรายหัวสำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนมาเป็นการจ่ายแบบ P4P

เป็นเหตุให้แพทย์ชนบทได้ออกแถลงการณ์ต่อต้าน รวมถึงชุมนุมประท้วงขับไล่ รมต.ประดิษฐ ไม่เว้นแต่ละวัน

ของแพทย์ชนบทในการขับไล่ นพ.ประดิษฐ เป็นต้นว่า มีพฤติกรรมเอื้อโรงพยาบาลเอกชน ไม่ยอมรับฟังแพทย์ชนบท พยายามรวบอำนาจ สร้างความแตกแยกภายใน สธ. และแทรกแซงองค์กรอิสระในสังกัด สธ. ฯลฯ รวมเหตุผลทั้งหมด 21 ข้อ

หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเกณฑ์ P4P เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของแพทย์ชนบทก็ยิ่งรุนแรงขึ้น นอกจากขึ้นป้ายไล่บริเวณหน้า รพช. ในหลายจังหวัดเป็นระยะๆ แล้ว ยังอารยะขัดขืนด้วยการไม่ต้อนรับ นพ.ประดิษฐหากลงพื้นที่ตรวจราชการ

แต่รัฐมนตรีประดิษฐไม่สะทกสะท้าน ด้วยเพราะ "ซูเปอร์คอนเนกชัน"ของเขากว้างขวางและไม่มีสัญญาณใดๆ จากผู้นำรัฐบาลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเขาว่ากันว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีแทบทุกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจหมอประดิษฐถือเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ยิ่งลักษณ์ถามความเห็นตลอด จนกลายเป็นหนึ่งในทีมมันสมองของนายกฯ

ยิ่งไปกว่านั้นกับผู้มีบารมีนอกรัฐบาลอย่าง"เจ๊แดง"เยาวภา วงศ์สวัสดิ์หมอประดิษฐก็สนิทสนมอย่างดี คุยภาษาธุรกิจกันคล่องคอ

เมื่อสัมพันธภาพกับยิ่งลักษณ์และเจ๊แดงเป็นไปอย่างราบรื่นก็ยิ่งทำให้เส้นทางการเมืองของนพ.ประดิษฐ สดใส ตราบใดที่ยิ่งลักษณ์ยังกุมอำนาจใหญ่อยู่ที่ตึกไทยคู่ฟ้า และเจ๊แดง ยังคุมสส.ในพรรคเพื่อไทยได้เกือบทั้งหมดไม่ใช่ปัญหาที่หมอประดิษฐจะร้อนเนื้อร้อนใจ

ความหวังของแพทย์ชนบทที่ส่งไม้ให้ สส.พรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะ สส.ในพื้นที่ภาคอีสานกดดัน นพ.ประดิษฐ พ้นจากตำแหน่ง จึงดูจะเป็นเพียงความหวังลมๆ แล้งๆ

ด้วยเสียงจาก สส.ในพรรค ก็รู้สึกเป็นบวกกับนพ.ประดิษฐ ด้วยเพราะประสบการณ์ทางธุรกิจกว่าค่อนชีวิต ทำให้เขารู้ดีว่าการตอบสนองการเมืองนั้นควรทำเช่นไร

นพ.ประดิษฐ จึงเป็น "กู๊ดบอย"ที่ไม่ว่า สส.ก๊วนไหน สายไหน ขออะไรมาถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง หมอประดิษฐพร้อมจัดให้เสมอ

หันมามองคู่ต่อสู้ฟากกลุ่มแพทย์ชนบท ที่มีนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติเป็นประธานแม้เหตุผลที่ยกมาค้านจะหนักแน่นด้วยเอกสารสารพัดเหตุผล รวมทั้งผลงานวิจัยอ้างอิง ว่าขณะนี้ P4P ยังไม่เหมาะกับเมืองไทย

แต่ดูเหมือนแนวร่วมจากผู้อำนวยการ รพช.มากกว่า 40% ของ รพช.ทั้งประเทศ จะยังจำกัดอยู่ในวงแคบ เพราะไม่สามารถดึงประชาชนออกมาเป็นแนวร่วมได้มากพอ

ประเด็นการขับเคลื่อนของหมอชนบทจึงเป็นการต่อสู้ระหว่างหมอประดิษฐกับหมอชนบท หาใช่ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียผนึกหมอบ้านนอกขับไล่รัฐมนตรี ที่พอจะเป็น "พลัง"ให้ สส.พรรคเพื่อไทยเงี่ยหูรับฟัง

ดังนั้น การสื่อสารระหว่างแพทย์ชนบทกับประชาชนผู้รับบริการในต่างจังหวัด จึงยังติดขัดขาดความเข้าใจร่วมกัน และอาจถูกบิดเบือนข้อมูลให้กลายเป็นการเรียกร้องเพื่อประโยชน์ตอบแทนของตัวเองเท่านั้น

แตกต่างกับเหตุการณ์อื้อฉาวในกระทรวงสาธารณสุขในอดีต ที่กลุ่มแพทย์ชนบทเดินหน้าชนกับ รักเกียรติ สุขธนะ อดีต รมว.สาธารณสุขในคดีทุจริตยา 1,400 ล้านบาท ที่รักเกียรติถูกจำคุก แตกต่างจากการต่อสู้กับ วิทยา แก้วภราดัย กรณีทุจริตงบไทยเข้มแข็ง 3 หมื่นล้านบาทที่วิทยาต้องตัดสินใจลาออก

ดังนั้น การขับเคลื่อนของกลุ่มแพทย์ชนบทจะสำเร็จได้ต้องฉายภาพให้เห็นว่า "ฝ่ายการเมือง"กำลังดำเนินการเพื่อ"ทำลายระบบสาธารณสุข"อย่างไร ประเด็นใดมีประโยชน์ทับซ้อนส่อไปในทางทุจริต หรือมีการเอื้อประโยชน์ให้โรงพยาบาลเอกชนอย่างไร

หากประเด็นเหล่านี้ไม่ชัด ก็คงยากที่จะดึงมวลชนอื่นเข้าร่วมนั่นหมายความว่า โอกาสที่จะนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ ในการ "ไล่รัฐมนตรีประดิษฐ"จึงยังอยู่ไกลเกินเอื้อมทั้งหมดทั้งมวล ณ ปัจจุบันขณะจึงเป็นคำตอบว่าทำไมสถานะของ นพ.ประดิษฐ จึงยังคงแน่นปึ้ก และไม่สะท้านต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มแพทย์ชนบท

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 11 เมษายน 2556