ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กระแสลดบทบาทหน่วยงานตระกูล “ส” เล่าลือกันว่าเป็นความพยายามของใครบางคนที่พุ่งเป้าตัดน้ำเลี้ยงขุมกำลังเครือข่ายเอ็นจีโอฝ่ายตรงข้าม

สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหนึ่งใน “ส” ที่ว่า ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช. บอกว่า เข้าใจว่าเดิมรัฐมนตรีว่าการไม่ได้ตั้งใจจะลดบทบาทหน่วยงานตระกูล “ส” เพียงแต่จะจัดวิธีการทำงานให้สามารถประสานงานกันได้ง่ายขึ้น นั่นคือสิ่งที่ให้สัมภาษณ์

ทพ.อรรถพรเล่าวิธีการทำงานสมัยก่อนให้ฟังว่า สปสช. เป็น “ส” หนึ่งที่ดูแลเงินเยอะมาก เวลาทำงานไม่ได้ทำงานคนเดียว ทำงานทางวิชาการก็ไปอาศัย สวรส. หรือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

 “...แต่ละปีเราเสียเงินเรื่องอุบัติเหตุฉุกเฉินเยอะมาก เราเสียเงินรักษาคนไข้โรคตับแข็ง เป็นมะเร็งตับเยอะมาก คนไข้มะเร็งปอด สสส. ก็เป็นอีกหนึ่งในตระกูล “ส” ที่ช่วยรณรงค์เรื่องการลดสูบบุหรี่”

สสส.ยิ่งรณรงค์ได้ผลมากเท่าไหร่ สปสช.ก็ยิ่งใช้เงินน้อยลงเท่านั้น

ภาพที่เห็นคือการทำงานเป็นเครือข่าย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เอาผลวิจัยศึกษามาร่วมประชุมกัน เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์สูงสุด

 “...ยังมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ไม่ได้มีเจตนาในการลดบทบาท ควบรวม แต่อาจจะหาวิธีการทำให้ “ส” ทั้งหลายทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยกลยุทธ์อะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดเหล่านี้เป็นการมองโลกในแง่ดี ซึ่งอาจจะมีบางมุมมอง...ไม่ได้มองโลกในแง่ดีแบบนี้ก็ได้”

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกว่า สปสช.ในฐานะองค์กรบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีหน้าที่บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนไทยที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลจากระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการข้าราชการ

 “สปสช.บริหารงบประมาณโดยให้ความสำคัญกับการกระจายให้เป็นธรรม มุ่งเน้นการกระตุ้นให้เกิดประสิทธิภาพ...คุณภาพในการจัดบริการ รวมทั้งบริหารเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงบริการของประชาชนกลุ่มที่มีความจำเป็นด้านสุขภาพ”

ในปี 2556 กองทุนหลักประกันฯได้รับงบประมาณจากกระทรวงการคลัง 141,302.745 ล้านบาท ครอบคลุมประชากรกว่า 48 ล้านคน ทั้งจากการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค การฟื้นฟูสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังได้รับการประเมินจากกระทรวงการคลังให้เป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นต่อเนื่องมาตลอด 3 ปีซ้อน...ปี 2551, ปี 2552 และปี 2554 แต่ในปี 2553 นั้นได้รางวัลผลการดำเนินงานชมเชย

สำหรับในปี 2555 “สปสช.” ...ได้รับรางวัล ประเภทประสิทธิภาพด้านบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียนดีเด่นจากกระทรวงการคลัง โดยมีความพร้อมในการบริหารจัดการกองทุนอย่างเป็นระบบ

 “ทุนหมุนเวียน”...เป็นกองทุนที่กรมบัญชีกลางตั้งขึ้นมา ตราไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย เพื่อที่จะให้เป็นเงินที่ไม่ใช่เป็นเงินในงบประมาณปกติ คล้ายกองทุนที่ให้เอาเงินในกองทุนไปใช้มีความคล่องตัว ดำเนินงานเป็นส่วนเสริมหน่วยงานรัฐ ซึ่งมีการประเมินด้วยว่าแต่ละองค์กรที่เอาเงินกองนี้ไปใช้ นำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

นายแพทย์วินัย บอกว่า สปสช.เป็นองค์กรที่ได้รับเงินจากรัฐบาล แต่ละปีจะได้ตามรายหัวประชากร การตั้งเงินรายหัวจะตั้งโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน 2 ส่วน

 “ข้อมูลประชากร” จะรู้อยู่แล้วว่าแต่ละปีมีสิทธิบัตรทองกี่คน เพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและการเกิดในปีนั้นๆ เด็กเกิดใหม่ได้สิทธิหลักประกันสุขภาพ ถ้าปีนั้นเศรษฐกิจไม่ดีคนว่างงาน ก็หมดจากสิทธิประกันสังคมถ้าไม่ได้ส่งเงินต่อ ก็จะได้สิทธิบัตรทองโดยอัตโนมัติ

ส่วนที่สอง “ข้อมูลการใช้บริการ” ...แยกเป็นผู้ป่วยนอกกับผู้ป่วยใน โดยข้อมูลผู้ป่วยในมีข้อมูลที่โรงพยาบาลให้บริการทุกแห่งต้องบันทึกส่งมาที่ สปสช.

แล้วก็ต้องบอกรายละเอียดด้วยว่าคนไข้คนนั้นคือใคร โดยใช้หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ซึ่งจะบอกด้วยว่าวินิจฉัยเป็นอย่างไร การรักษาเป็นอย่างไร เราจึงมีข้อมูลการให้บริการทุกรายที่แม่นมาก

ข้อมูลละเอียดในระดับบุคคล สปสช.จึงสามารถคำนวณต้นทุนได้ว่า ถ้าให้บริการผู้ป่วยนอก ต้นทุนจะอยู่ที่เท่าไหร่ นับรวมไปถึงการส่งเสริมป้องกันก็มีตัวเลขข้อมูลพร้อมทำให้คำนวณงบแต่ละปีได้ชัดเจน

เชื่อมโยงไปอีกว่า แต่ละปีขอเก็บงบเหมาจ่ายรายหัวจากรัฐบาลเท่าไหร่... 2,755 บาท ลองคิดดูว่าเบี้ยเท่านี้ แต่สิทธิประโยชน์ที่ได้รับครอบคลุมไปหมดเลย ทำให้ต้องใช้วิธีบริหารจัดการหลายอย่าง

ลดต้นทุนบางอย่าง เช่นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาแพงก็ไปต่อรองราคา ยาที่ต้องใช้เยอะและยาก็เป็นต้นทุนทางการแพทย์ที่สำคัญเพราะใช้ปริมาณมาก ก็ใช้วิธีการประมูลรวมบ้าง ต่อรองราคาบ้าง...เราทำมา 3-4 ปี ประหยัดเงินชัดเจนเป็นหมื่นล้านบาท

หัวใจสำคัญในการบริหารงาน เพื่อความอยู่รอด และเพื่อการให้บริการสุขภาพที่ดีที่สุดกับประชาชน

นายแพทย์วินัย ย้ำว่า สปสช.เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นมาเพื่อพิทักษ์สิทธิ์ประชาชน เราเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนที่มีสิทธิบัตรทอง ฉะนั้นวัตถุประสงค์จึงอยู่ที่ประชาชนเป็นหลัก อยากจะให้เพิ่มสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง การเพิ่มสิทธิประโยชน์แต่ละอย่างทำให้เกิดการใช้เงินที่มากน้อยไม่เท่ากัน

ยกตัวอย่าง วันนี้พูดคุยกับเครือข่ายคนพิการภาคประชาชนเสนอว่า คนพิการที่หูหนวกตั้งแต่อายุน้อยๆ หากได้รับการฝังประสาทหูเทียมตั้งแต่เล็กๆ จะทำให้การได้ยินกลับมาได้ใกล้เคียงปกติ

ปัญหามีว่า...รากปราสาทหูเทียม 1 ชิ้นราคา 8 แสนบาท สปสช.จะบริหารยังไง…สมมติว่า 1 ปีมีคนมาฝังรากประสาทหูเทียม 100 ราย ก็ 80 ล้านบาทเข้าไปแล้ว...ก็ต้องชั่งน้ำหนัก

วิธีการสำคัญอยู่ในขั้นปฏิบัติ สปสช.จะส่งความต้องการเหล่านี้ไปให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการสืบหาความคุ้มค่าทางด้านการลงทุนสาธารณสุข ถ้าหากจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ตรงนี้ไป จะทำให้ประชาชนจำนวนเท่าไหร่ได้รับประโยชน์ จะทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเท่าไหร่

หรือว่า...ถ้าไม่ลงทุนตรงนี้แล้วเอาเงินงบประมาณที่มีจำกัดไปทุ่มให้กับคนไข้ที่เป็นโรคบางอย่าง คนไข้ที่ต้องผ่าตัดหัวใจ คนไข้ที่ต้องผ่าตัดสมอง คนไข้ที่เป็นโรคไต อะไรจะคุ้มค่ามากกว่ากัน

  สปสช.ก็อาศัยช่องทางหน่วยงานราชการที่มีอยู่หลายหน่วยมาช่วยสนับสนุน ศึกษาวิจัย เพื่อที่จะบอกว่า ด้วยเงินที่มีเท่านี้ จะลงทุนกับเรื่องใด...

 “ประโยชน์เกิดกับประชาชนส่วนใหญ่ แต่ประเทศก็ไม่เกิดภาระ”

นี่คือวันวานและวันนี้ของ สปสช. นอกจากจะทำให้คนไข้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มากขึ้นแล้ว รัฐยังใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับอนาคต ตระกูล “ส” จะถูกลดบทบาทลงหรือไม่ มากน้อยอย่างไร...ชวนให้คนไทยทั้งประเทศติดตาม

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 16 เมษายน 2556