ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สำนักงานประกันสังคมสานต่อนโยบายบูรณาการมะเร็ง 3 กองทุน เล็งเพิ่มค่ารักษา 'มะเร็งตับและท่อน้ำดี-กระเพาะปัสสาวะ-ต่อมลูกหมาก' ใช้เกณฑ์เดียวกับ สปสช. หากมีค่าใช้จ่ายสูงจะจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมตามระดับความรุนแรงของโรคโรคละ 15,000 บาท เพื่อประโยชน์ผู้ป่วยเป็นหลัก

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายบูรณาการสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพมาตรฐานเดียว 3 กองทุน ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ล่าสุดคณะกรรมการเตรียมการจัดบูรณาการโรคมะเร็งมาตรฐานเดียวทั้งระบบ มีมติบูรณาการโรคมะเร็งมาตรฐานเดียว 5 ชนิด คือ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556

เมื่อวันที่ 15 เมษายน นางสุพัชรี มีครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นอกจากการ เตรียมพร้อมในเรื่องการบูรณาการโรคมะเร็งทั้ง 3 กองทุนแล้ว ขณะนี้อนุกรรมการการแพทย์ของ สปส. ยังอยู่ระหว่างการศึกษา ในเรื่องค่ารักษาโรคมะเร็งตามเกณฑ์เดียวกับที่ทาง สปสช.ใช้อยู่ เพิ่มเติมอีก 3 โรค ได้แก่ โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งกระเพาะปัสสาวะและมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งปัจจุบัน ทาง สปส.ให้ความคุ้มครอง รักษาโรคมะเร็ง 7 โรค ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหารและมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย โดยจะมีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลผู้ป่วยทั้งสองกองทุนเข้าด้วยกัน เพื่อให้มีความสะดวกในการรับโอนผู้ป่วยและให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเท่าเทียมระหว่างกองทุน

นางสุพัชรีกล่าวอีกว่า ปัจจุบันระบบประกันสังคมจะจ่ายค่ารักษาแบบเหมาในช่วงแรกของการรักษาพยาบาลโรคมะเร็งทั้ง 7 ชนิด แต่หากมีค่าใช้จ่ายสูงก็จะจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (ดีอาร์จี) โดยผู้ประกันตน ซึ่งมีระดับความรุนแรงของโรค (RW) อยู่ในระดับ 2 ขึ้นไป จะจ่ายค่ารักษาให้ระดับละ 15,000  บาท และหากมีการรักษาตามแนวทางที่ สปส.กำหนด โดยยึดมาตรฐานของราชวิทยาลัยแพทย์ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ สปสช.ใช้อยู่ในปัจจุบัน สปส.จะจ่ายค่ารักษาเพิ่มเติมให้แก่โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมหรือโรงพยาบาลคู่สัญญาที่โรงพยาบาลระบบประกันสังคมส่งต่อผู้ประกันตนไปเข้ารักษาซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา ทั้งนี้ การจ่ายเงินค่ารักษาเพิ่มเติมนั้นจะจ่ายจริงตามอัตราที่กำหนด โดยโรคมะเร็งเต้านมจะจ่ายไม่เกิน 117,900 บาทต่อรายต่อปี มะเร็งปากมดลูกไม่เกิน 75,000 บาทต่อรายต่อปี มะเร็งรังไข่ไม่เกิน 272,100 ต่อรายต่อปี มะเร็งโพรงจมูกไม่เกิน 35,100 บาทต่อรายต่อปี มะเร็งปอดไม่เกิน 246,000 บาทต่อรายต่อปี มะเร็งหลอดอาหาร 15,000 บาทต่อรายต่อปี มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ส่วนปลายไม่เกิน 96,400 บาทต่อรายต่อปี  ซึ่งหากคณะอนุกรรมการการแพทย์ได้ข้อสรุปผลการศึกษาแล้ว จะเสนอต่อคณะกรรมการการแพทย์ เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ก่อนเสนอต่อบอร์ด สปส.ต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่  16 เมษายน 2556