ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ชี้อีก 10 ปี แพทย์เฉพาะทางขาดแคลนเกือบทุกสาขา อายุรแพทย์ขาดกว่า 4,044 คน ศัลยแพทย์ 1,855 คน วิสัญญีแพทย์ 1,348 คน ประสาทศัลยแพทย์ 340 คน ชงเพิ่มแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 5,600 คน

นพ.มงคล ณ สงขลา ประธาณคณะกรรมการกำลังคนต้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2556 ได้พิจารณารายงาน "การวิจัยเพื่อคาดการณ์กำลังคนด้านสุขภาพกรณีความต้องการแพทย์เฉพาะทางของการให้บริการสุขภาพระดับทุติยภูมิและตติยภูมิในประเทศไทย" ของ ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณนารุโณทัย และ ดร.พุตตาน พันธุเณร จากมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนที่เพียงพอ ตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน ตามแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนด้านสุขภาพเนื่องจากมีข้อมูลของแพทยสภาในปี 2554 พบว่าในประเทศไทยมีแพทย์ทั้งสิ้น 42,890 คน เป็นแพทย์เฉพาะทาง 25,185 คน คิดเป็นร้อยละ 59 เท่านั้น ขณะที่แนวโน้มของผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังและการเกิดโรคใหม่สูงขึ้น จึงคาดว่าแพทย์เฉพาะทางที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอ อีกทั้ง ยังพบปัญหาด้านการกระจายและการผลิตแพทย์เฉพาะทางไม่สอดคล้องกับความต้องการของระบบบริการ

ผลงานวิจัยคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า แพทย์เฉพาะทางจะขาดแคลนไม่เพียงพอในเกือบทุกสาขา ได้แก่ อายุรแพทย์ คาดว่าขาดแคลน 4,044 คน, ศัลยแพทย์ ขาดแคลน 1,855 คน, วิสัญญีแพทย์ ขาดแคลน 1,348 คน และประสาทศัลยแพทย์ ขาดแคลน 340 คน ที่สำคัญต้องเพิ่มจำนวนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งจะมีบทบาทในการคัดกรองโรคของผู้ป่วยก่อนส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง เนื่องจากพบปัญหาผู้ป่วยส่วนใหญ่เรียกร้องพบแพทย์เฉพาะทางทันที ทั้งที่บางกรณีไม่ได้ป่วยรุนแรงหรือเร่งด่วน การเพิ่มแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่ยังขาดแคลน 5,600 คน จะช่วยเสริมศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ลดภาระงานของสถานพยาบาลระดับตติยภูมิได้มากขึ้นด้วย

นพ.มงคล กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ส่งผลการศึกษาและข้อเสนอแนะแนวทางเพื่อสนับสนุนการเพิ่มแพทย์เฉพาะทางที่จำเป็นและจะขาดแคลนในอนาคต ได้แก่ อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ ประสาทศัลยแพทย์ สูตินรีแพทย์และเวชปฏิบัติครอบครัวไปให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ แพทยสภา ราชวิทยาลัยแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อร่วมกันวางแนวทางในการผลิตและสร้างแรงจูงใจให้มีการศึกษาแพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้น อาทิ ข้อเสนอต่อ สธ.ในการเพิ่มจำนวนทุนแพทย์เฉพาะทางการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการผลิต รวมถึงการทบทวนและเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษแก่แพทย์เฉพาะทางที่ขาดแคลนบางสาขาเพื่อเพิ่มแรงจูงใจ

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 8 พฤษภาคม 2556